ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๐

วันนี้ (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560)  เวลา 13.30 น.  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุพัฒน์  วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นางสาวบุษฎี  สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สมภพ  ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช อาคารหอสมุดศิริราช ชั้น 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

 

สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  ประจำปี 2560 ได้แก่

  1. นายฆนัท จันทรทองดี                        คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. นางสาวฐานิศรา ฤทธิไพโรจน์              คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. นายนิพิฐ เจริญงาม                           คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. นายภีม สาระสมบัติ                           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  5. นางสาวสุชานันท์ กาญจนพงศ์             คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี  2560 ทั้งสิ้น 14 ราย จาก 7 สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 ราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการดำเนินการ  และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย  ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ  หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ  และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย

 

 


 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560

นายฆนัท จันทรทองดี

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

นายฆนัท จันทรทองดี เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจเกี่ยวกับระบบประสาทจิตเวช โดยเฉพาะภาวะเสพติดสุราและกลไกที่เกี่ยวข้องกับความอยากสุรา จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี พ.ศ. 2556 พบว่า สุราเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเพศชายสูญเสียปีสุขภาวะที่ดี แต่ในทางกลับกัน การรักษาภาวะติดสุราในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงมีประสิทธิภาพที่ไม่แน่นอน ในปัจจุบันเริ่มมีการค้นพบว่าสารเสพติด รวมถึงสุราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการอีพิเจเนติกภายในสมอง จึงมีความพยายามในการพัฒนายาผ่านกระบวนการนี้ เพื่อช่วยจัดการกับความผิดปกติของปัจจัยทางชีวภาพภายในสมองของผู้ติดสุรา โดยนายฆนัท มีความตั้งใจจะทำวิจัยในสัตว์ทดลองเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภายในสมองของการติดสุรา ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบยาเพื่อลดความอยากสุราตัวใหม่

 

โดย นายฆนัท  จันทรทองดี มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2559 เป็นกรรมการ โครงการรับบริจาคเนื่องในวันมหิดลประจำปี 2559 ตัวแทนต้อนรับ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2559 และเป็นผู้รับผิดชอบสอน ในโครงการพี่สอนน้องของฝ่ายวิชาการสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช

 

ปีการศึกษา 2558 เป็นหัวหน้าชั้นปี นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 จัดกิจกรรม ค่ายหมออาสาพัฒนาชุมชน ณ อ.จักราช จ.นครราชสีมา  เป็นพิธีกรและคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ ในการแข่งขัน Siriraj International Medical Microbiology, Parasitology and Immunology Competition 2015  เป็นวาทยกร ในการแสดงดนตรีสี่ชมรมกิจกรรม Family concert 2014

 

ปีการศึกษา 2557 เป็นรองหัวหน้าชั้นปี นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3   ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภททีม ในการแข่งขัน 12th Inter-Medical School Physiology Quiz ณ University of Malaya ประเทศมาเลเซีย  หัวหน้าโครงงานวิจัย Comparative Analysis of HIV-Related Attitudes, Behaviors, and Beliefs between People Living with HIV and Health Care Workers in Thailand   เป็นนักดนตรี ในคอนเสิร์ตการกุศล A Night To Remember Charity Concert โดยนักศึกษาแพทย์

 

ปีการศึกษา 2556 เป็นรองประธานโครงการ งานพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษามหกายวิภาคศาสตร์

 

ปีการศึกษา 2555 เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม Asian Science Camp 2012 ณ the Hebrew University of Jerusalem ประเทศอิสราเอล

 

ปีการศึกษา 2554 ได้รางวัลเหรียญเงินในนามผู้แทนประเทศไทย ในการแข่งขัน International Biology Olympiad 2011 ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน   ได้รับรางวัลเหรียญทอง รางวัลคะแนนรวมสูงสุดและรางวัลคะแนนปฏิบัติการสูงสุด จากการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล   เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ทางการศึกษาและวัฒนธรรม

 


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560

นางสาวฐานิศรา ฤทธิไพโรจน์

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

นางสาวฐานิศรา ฤทธิไพโรจน์ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาระบบการบริการการป้องกันโรคอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based preventive medicine service system) และตรงกับบริบท (context-sensitive) ของประเทศไทย เพื่อการลดหรือชะลอโรค ที่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำมาสู่การลดทอนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและการแก้ปัญหาการสาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืนสืบไป ในปัจจุบันนี้ โรคเรื้อรังที่สามารถป้องกันได้ (preventable chronic diseases) ยังคงเป็นปัญหาหลักของการสาธารณสุขในสังคมไทย อันส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญทั้งกับภาระโรคที่เพิ่มมากขึ้นและกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างมาก การรักษาผู้ป่วยโดยการกลับมาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การป้องกันโรค (preventive medicine) จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  หัวใจสำคัญในการสร้างแนวทางการป้องกันโรค (preventive recommendations) ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ (evidence-based) และต้องเป็นไปตามบริบท (context-sensitive) ของประเทศเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในระบบสาธารณสุขและยังประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ดังนั้นการศึกษาวิจัยการพัฒนาระบบการบริการการป้องกันโรคอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์และนำกลับมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบฯ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ จึงเป็นอีกแนวทาง อันจะก่อให้เกิดการให้บริการการป้องกันโรคที่ถูกและดีอย่างเท่าเทียมกัน นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต 

 

โดยนางสาวฐานิศรา ฤทธิไพโรจน์ มีเกียรติประวัติต่าง ๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2560 ได้รับการคัดเลือกจาก Oxford University เข้าร่วมโครงการ The  Elective Programme at  Oxford University Medical School ได้รับคัดเลือกจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ไปปฏิบัติงานที่ Jichi Medical University, Japan 

ปีการศึกษา 2559 ได้รับเกียรติบัตรคะแนนสูงสุดในรายวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา เป็นผู้ริเริ่มและผลักดันจนเป็นผลสำเร็จในการจัดการประชุมนานาชาตินิสิตนักศึกษาแพทย์ระดับเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 14  (The 14th Asia Pacific Regional Meeting: APRM 2016 )  ที่ประเทศไทย        เป็นคณะผู้ริเริ่มโครงการด้านการส่งเสริมสุขภาพ “MED-Rathon มาวิ่งกับหมอ ครั้งที่ 1:  “Run for diabetes วิ่งหยุดเบาหวาน”   เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนนิสิตและนักศึกษาแพทย์ไทย เข้าร่วมประชุมนานาชาติ  “The 65th General Assembly” ณ สาธารณรัฐมอลตา

ปีการศึกษา 2558 เป็นประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (President of  IFMSA-Thailand)  ได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนโครงการแลกเปลี่ยน ฝึกปฏิบัติงาน ณ Universitäts Klinikum Frankfurt, Germany

ปีการศึกษา 2557 ได้รับคัดเลือกไปปฏิบัติงานวิจัยด้าน Basic Anatomy ณ Human Identification Research Center, Yonsei University, South Korea

ปีการศึกษา 2556 ประธานจัด Flash-mob Dance เนื่องใน วันรู้รักษ์ตระหนักยา ประธานฐานวิชาการปี 2 ค่ายอยากเป็นหมอครั้งที่ 23 วิทยากรอาสาสมัครและวิทยากรรับเชิญด้านการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ในงานประชุมขององค์กรต่างๆ

 


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560

นายนิพิฐ เจริญงาม

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

นายนิพิฐ เจริญงาม เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองต่อการกินวิตามินดีเสริม และจุลชีพในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากปัจจุบันภาวะขาดวิตามินดี เป็นปัญหาสำคัญที่พบมากในคนไทยและทั่วโลก มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ขาดวิตามินดี โดยที่ถึงแม้จะกินวิตามินดีเสริมในระดับสูงแล้ว ระดับก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ปกติ การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าทั้งปัจจัยทางคลินิก ผลชีวเคมีเลือด และปัจจัยทางพันธุกรรม ไม่สามารถอธิบายความแตกต่างของการตอบสนองต่อการกินวิตามินดีเสริมในระหว่างบุคคลได้ โดยนายนิพิฐ ได้ตั้งสมมติฐานว่าจุลชีพในระบบทางเดินอาหาร อาจมีผลต่อการดูดซึมวิตามินดี เนื่องจากปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าจุลชีพในระบบทางเดินอาหารมีผลต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบ โดยเฉพาะการดูดซึมอาหาร แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจุลชีพในระบบทางเดินอาหาร และการดูดซึมวิตามินดี และต้องการทำวิจัยทางคลินิกเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาแนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามินดีต่อไปในอนาคต 

 

โดยนายนิพิฐ เจริญงาม มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

 

ปีการศึกษา 2560 ได้นำเสนอผลงานวิจัย Oral presentation 2 เรื่อง และ Poster presentation 2 เรื่อง ในการประชุม ANZAHPE 2017 ณ เมือง Adelaide ประเทศออสเตรเลีย

 

ปีการศึกษา 2559 เป็นหัวหน้านักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้รางวัลเหรียญทองแดงคะแนนสูงสุด ภาควิชา จักษุวิทยา และรางวัลคะแนนสูงสุด ภาควิชา กุมารเวชศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เป็นนักศึกษาแพทย์อาสาสมัครออกหน่วยตรวจ ซุ้มคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ณ สนามหลวง และได้นำเสนอผลงานวิจัย Poster presentation ในงานประชุม AMEE 2016 ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

ปีการศึกษา 2558 เป็นประธานโครงการ พาน้องขึ้นวอร์ดครั้งที่ 2 จัดทำโดย นักศึกษาแพทย์ศิริราช รุ่น 123  เป็นประธานหอพักชายประจำชั้นปีที่ 4  ได้รางวัลคะแนนสอบและคะแนนปฏิบัติงานสูงสุด ภาควิชาอายุรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ได้นำเสนองานวิจัย Poster presentation ในงานประชุม ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ในงานประชุม ENDO 2016 ณ เมือง บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ปีการศึกษา 2557 เป็นรองประธานฝ่ายจัดการแข่งขันตอบปัญหาจุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์นานาชาติ (SIMPIC 2015)      ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภททีม และรางวัลอันดับที่ 4 ประเภทบุคคล ในการแข่งขันแข่งขันตอบปัญหาสรีรวิทยานานาชาติ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  ได้รับรางวัลคะแนนสูงสุด วิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน ชั้นปีที่ 3

 

ปีการศึกษา 2556 เป็นวิทยากรสอนวิชาคณิตศาสตร์โอลิมปิก แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ที่กำลังอยู่ในค่ายมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา

 

ปีการศึกษา 2555 ได้รับเหรียญเงิน คณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ณ เมือง มาเดล พลาตา ประเทศ อาร์เจนตินา และเหรียญเงิน คณิตศาสตร์เอเชียแปซิฟิก

 


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560

 

นายภีม สาระสมบัติ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

นายภีม สาระสมบัติ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจในเรื่อง การดูแล ผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุในชุมชนชนบท โดยใช้ระบบเชื่อมต่อทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ดูแล (caregiver) ผู้ป่วยสูงอายุในประเทศไทย  เนื่องจากปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว   อันนำมาซึ่งจำนวนผู้ดูแลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกภายในครอบครัว   ที่ต้องอุทิศตนมาเพื่อดูแล  โดยที่ยังไม่มีความพร้อมอย่างเพียงพอที่จะรับภาระหนักในหลากหลายด้าน    โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในชนบท ที่ผู้ดูแลยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการดูแลอย่างเหมะสม ดังนั้นการนำเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วย   จะสามารถเข้าถึงผู้ดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างทั่วถึง   อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและระบบในการช่วยสนับสนุนดูแลผู้ดูแลต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน  

โดยนายภีม สาระสมบัติ  มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2558 ได้รับรางวัลนักศึกษาดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ได้รับรางวัลทุนสมาคมศิษย์เก่าแพทย์เชียงใหม่ไปศึกษาดูงาน ณ  Texas Tech University, Texas, USA  ร่วมออกหน่วยอาสาหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มูลนิธิโครงการหลวงฯ        

        

ปีการศึกษา 2557 ไปนำเสนอผลงาน Oral Presentation เรื่อง “Preclinical Medical Students as a Transformer: Student and Health Care Provider”  ในการประชุม AMEE 2015 ณ Glasgow, United Kingdom  ร่วมจัดโครงการสำรวจปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนพร้อมรณรงค์ให้ความรู้ ณ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

 

ปีการศึกษา 2556 เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโครงการและวิทยากรให้ความรู้ชุมชนผ่านเสียงตามสาย ณ ตำบลสบเตี๊ยะ จังหวัดเชียงใหม่   ออกเยี่ยมชุมชนและตรวจคัดกรองโรคระบาด อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่   

                 

ปีการศึกษา 2555 ออกค่ายสำรวจค่ายอาสาของชมรมพัฒนาอนามัยและชนบท และกิจกรรมอาสาต่างๆ      เป็นคณะกรรมการโครงการหัวใจดวงน้อยสู่แดนดอยอันกว้างใหญ่ จัดค่ายอาสา ณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

 


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560

นางสาวสุชานันท์ กาญจนพงศ์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

นางสาวสุชานันท์ กาญจนพงศ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาเครื่องมือคัดกรองภาวะสมองเสื่อมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และการพัฒนาฐานข้อมูลของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 600,000 คน และจะเพิ่มขึ้นอีกตามการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมประชากรผู้สูงอายุ แต่ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจำนวนมากยังไม่ได้รับการวินิจฉัย ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น   ดังนั้นการใช้การคัดกรองด้วยเครื่องมือระบบคอมพิวเตอร์จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแก่ผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและเร็วขึ้น   รวมทั้งลดภาระงานเชิงระบบของบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือคัดกรองระบบคอมพิวเตอร์สามารถใช้พัฒนาเป็นฐานข้อมูลของภาวะสมองเสื่อมของประเทศไทย เพื่อสามารถนำข้อมูลมาต่อยอดสำหรับการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นให้ทันกับการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย  ประเด็นที่นางสาวสุชานันท์ สนใจจะไปศึกษา คือ การศึกษาโครงการต้นแบบที่สร้างฐานข้อมูลของภาวะสมองเสื่อมในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจัยทางด้านงบประมาณ และการใช้ข้อมูลในงานวิจัย และการร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน  เพื่อการทำโครงการให้สามารถใช้ได้จริงในบริบทของประเทศไทยต่อไป      

 

โดยนางสาวสุชานันท์ กาญจนพงศ์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

 

ปีการศึกษา 2560 เป็นหัวหน้านักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลงาน Poster Presentation ในการประชุม AMEE 2017 ณ เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้รับทุนสนับสนุนนักศึกษาแพทย์ศิริราชเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนภาคฤดูร้อน ณ มหาวิทยาลัย University of California, Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ปีการศึกษา 2559 เป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน Siriraj International Medical Microbiology, Parasitology and Immunology Competition (SIMPIC) 2016    เป็นประธานคณะกรรมการจัดการประชุม 15th IFMSA Asia-Pacific Regional Meeting (APRM) ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (IFMSA)

 

ปีการศึกษา 2558 เป็นผู้แทนนักศึกษาแพทย์จากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA Thailand) เข้าร่วมการประชุม IFMSA 64th General Assembly ณ เมืองอัลทายา ประเทศตุรกี ได้รับทุนสนับสนุนนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนภาคฤดูร้อน ณ มหาวิทยาลัย National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์ ได้เหรียญทองการแข่งขันเทนนิสหญิงประเภททีม และเหรียญทองแดงการแข่งขันเทนนิสหญิงประเภทเดี่ยว กีฬาเข็มสัมพันธ์ ครั้งที่ 27 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ปีการศึกษา 2557 เป็นหัวหน้าผู้แทนนักศึกษาแพทย์ไทย (Head of Delegation) เข้าร่วมการประชุม IFMSA 63rd General Assembly ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน   เป็นหัวหน้าโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์ (National Exchange Officer on Incoming) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย