วันนี้ (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558) เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช อาคารหอสมุดศิริราช ชั้น 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2558 ได้แก่
- นางสาวแพรลดา วงศ์ศิริเมธีกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- นายภูมิพงศ์ ศรีภา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- นายภูวณัฏฐ์ สาครสกลพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- นายศีลวันต์ สถิตย์รัตนชีวิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นายสรวิศ โอสถาพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ทั้งสิ้น 15 ราย จาก 8 สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 ราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณากลั่นกรองคัดเลือก และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
นางสาวแพรลดา วงศ์ศิริเมธีกุล
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
นางสาวแพรลดา วงศ์ศิริเมธีกุล เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจด้านแพทยศาสตรศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาระบบฝึกหัดผู้ป่วยจำลอง เพื่อนำมาใช้ในการฝึกทักษะต่างๆ แก่นักศึกษาแพทย์ เนื่องจากในปัจจุบันการฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจริงนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิ จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการมีแนวโน้มลดลง ลักษณะของผู้ป่วยมีความซับซ้อน ไม่สอดคล้องกับบริบทการทำงานจริง นอกจากนั้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ การฝึกฝนทักษะให้ดีก่อนฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจริงช่วยลดความเสี่ยงต่อทั้งผู้ป่วยและนักศึกษาแพทย์ การเรียนกับผู้ป่วยจำลองจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยปัจจุบันมีการเรียนการสอนโดยใช้ผู้ป่วยจำลองแล้วในหลายสถาบัน นางสาวแพรลดาจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบฝึกหัดผู้ป่วยจำลอง (Thai Simulated Patients Training Program, Thai-SPTP) ให้มีรูปแบบมาตรฐานสากล มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มทุน สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาทักษะของนักศึกษาแพทย์ไทยในศตวรรษที่ 21 ได้จริง ส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์ที่ผ่านการเรียนการสอนกับผู้ป่วยจำลอง มีความพร้อมและทักษะความรู้ความสามารถรอบด้าน เป็นผู้นำและกำลังสำคัญในการพัฒนาสาธารณสุขไทย และนานาชาติต่อไป
โดย นางสาวแพรลดา วงศ์ศิริเมธีกุล มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2558 – โล่รางวัลเยาวชนดีเด่นจังหวัดเชียงใหม่
ปีการศึกษา 2557 – นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Student Safety: Exploring the medical student secret”, AMEE 2014 ณ มิลาน, อิตาลี
– นำเสนอโปสเตอร์วิจัยเรื่อง “Student’s view: The advantage of contribution of different medical student tracts recruitment into medical school”, Prince Mahidol Award Conference 2014
– เหรียญรางวัลเรียนดีแพทยศาสตร์บัณฑิต ระดับชั้นปีที่ 5
– รองประธานจัดงานจริยธรรมสัญจร (แพทยสภา) ครั้งที่ 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เจ้าภาพ)
– ประธานฝ่ายส่งเสริมจริยธรรม สโมสรนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– ประธานจัดพิธีมอบเสื้อกาวน์ กิจกรรมแนะแนวการเรียนและพาน้องชมวอร์ด นักศึกษาแพทย์ปีที่ 4
– นักกรีฑา ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 42 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีการศึกษา 2556 – รองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอผลงานด้วยวาจาเรื่อง “มุมมองของนักศึกษาแพทย์ต่อการเรียนการสอนในรูปแบบ Problem-Based Learning (PBL) การประชุมวิชาการแพทยศาสตรศึกษา ครั้งที่ 12 (CPIRD 2013)
– ประกาศเกียรติคุณที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– อาสาสมัครออกหน่วยบริการเคลื่อนที่มูลนิธิสวนดอก
– วิทยากรอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เรื่อง “เชื้อจุลชีพก่อโรคในคนที่พบบ่อยและการป้องกัน”
ปีการศึกษา 2555 – ประธานฝ่ายเงินบริจาคโครงงานมหิดล และตัวแทนมอบเงินบริจาคแก่มูลนิธิราชสมาธรเพื่อผู้ป่วยยากไร้
– ประธานจัดโครงการรับน้องข้ามฟาก และพิธีมอบหัวเข็มขัดแพทย์เชียงใหม่
– ประธานฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมชั้นคลินิก, ประธานโครงการ“สายใยพี่น้องสู่รั้วสวนดอก” และ “หนังสั้นส่งเสริมจริยธรรม”
– ชนะเลิศการแข่งขันบาสเกตบอลหญิง และคะแนนรวมกรีฑาสูงสุด การแข่งขันกีฬาเข็มสัมพันธ์ ครั้งที่ 26 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ปีการศึกษา 2554 – คณะกรรมการกิจกรรมตอบปัญหาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชิงโล่รางวัล ฯพณฯ องคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทยเกษม วัฒนชัย ครั้งที่ 2
– ตัวแทนต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาจาก Nippon Medical School, และ Nara University ประเทศญี่ปุ่น
ปีการศึกษา 2553 – เหรียญรางวัลเรียนดีแพทยศาสตร์บัณฑิต ระดับชั้นปีที่ 1
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
นายภูมิพงศ์ ศรีภา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
นายภูมิพงศ์ ศรีภา นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยมากมักมุ่งหวังที่การรักษาตัวโรคเพียงอย่างเดียว ขาดการพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น ความเจ็บป่วย ครอบครัว และการตัดสินใจของผู้ป่วย ส่งผลให้ผลการรักษาผู้ป่วยโดยรวมนั้นยังคงได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ขาดการให้คำแนะนำ การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพอย่างเหมาะสม นอกจากนี้สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ และปัญหาเรื่องกลุ่มโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกๆ ปี ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลในการเยียวยาปัญหาเหล่านี้ที่ปลายเหตุ ดังนั้นการศึกษาวิจัยด้านการดูแลผู้ป่วยโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นแนวทางที่อาจช่วยแก้ปํญหาสุขภาพ พัฒนาการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมและระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้ดีขึ้นในอนาคต
โดยนายภูมิพงศ์ ศรีภา มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2558 – เข้าร่วมการประชุม 2nd PAN-ASIAN Conference on Hemoglobinopathies 2015, Hanoi, Vietnam – นักเรียนแลกเปลี่ยน ณ Chang Gung University, Taiwan (R.O.C.)
ปีการศึกษา 2557 – คณะกรรมการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สโมสรนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
– ประธานโครงการ Let’s go elective ครั้งที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
– นักเรียนแลกเปลี่ยน สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และสาขาอายุรศาสตร์ ณ Faculty of Medicine, Mie University, Japan
ปีการศึกษา 2556 – ได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 การแข่งขัน Emergency tournament ครั้งที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปีการศึกษา 2555 – คณะกรรมการจัดโครงการคัดกรองโรคเรื้อรัง ระหว่างการฝึกภาคสนามร่วมเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม– ดำเนินงานฝ่ายสถานที่ งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่เป็นกรณีพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
– นักเรียนแลกเปลี่ยน ณ University of Occupational and Environmental Health, Japan
ปีการศึกษา 2554 – คณะกรรมการจัดกิจกรรมค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา- ร่วมออกหน่วยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จ.ขอนแก่น- จัดกิจกรรมค่ายสานฝันฉันจะเป็นหมอครั้งที่ 13 ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปีการศึกษา 2553 – ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษในกิจกรรมค่ายเตรียมความพร้อมโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น- นักกีฬาทีมวอลเล่ย์บอลมหาวิทยาลัยขอนแก่น งานกีฬาเข็มสัมพันธ์ครั้งที่ 24 และกีฬาน้องใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปีการศึกษา 2551 – จัดโครงการบริจาคหนังสือสู่ชนบทปีที่ 5 ณโรงเรียนบ้านผาเวียง อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
นายภูวณัฏฐ์ สาครสกลพัฒน์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล |
นายภูวณัฏฐ์ สาครสกลพัฒน์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจด้านการนำการศึกษาเชิงระบบ (systems approach) มาประยุกต์ใช้กับโรคเรื้อรัง โดยมีโรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นต้นแบบ
เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยที่องค์ความรู้ในการป้องกัน การวินิจฉัย รวมไปถึงการรักษายังต้องพัฒนามากขึ้น เพราะโรคส่วนใหญ่มีความซับซ้อนของการแสดงออกทางคลินิก รวมไปถึงปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางโมเลกุลที่แตกต่างกันออกไป ทำให้รูปแบบวิธีการวิจัยแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอต่อการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ จึงเป็นที่มาของการศึกษาเชิงระบบ ที่มุ่งเน้นการศึกษาปัจจัยต่างๆ ของโรคในแบบภาพรวม และพยายามหาแบบจำลองเพื่อทำนายลักษณะเฉพาะของโรคเรื้อรังเหล่านี้ ความสำเร็จจากการศึกษาเชิงระบบนี้จะนำไปสู่การระบุปัจจัยและกลไกการเกิดโรค การวินิจฉัยที่แม่นยำ ค้นหาวิธีการรักษาใหม่ ตลอดจนเพื่อทำนายการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคน อันจะนำไปสู่การแพทย์แบบแม่นยำ (precision medicine) ในอนาคต
โดยนายภูวณัฏฐ์ สาครสกลพัฒน์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2557 – นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
– กรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
– กรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย
ปีการศึกษา 2556 – ประธานโครงการ การแข่งขันตอบปัญหาจุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์นานาชาติ
– ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อ สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
– ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการพื้นที่เผยแพร่ผลงานของนักศึกษาแพทย์ศิริราช (SISO Magazine)
– ผู้พัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับบริหารจัดการสโมสร
ปีการศึกษา 2555 – ผู้ช่วยอุปนายกฝ่ายบริหาร สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
ปีการศึกษา 2554 – ประธานโครงการอำลานักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 (Senior Farewell)
ปีการศึกษา 2553 – หัวหน้านักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1
ปีการศึกษา 2550 – ได้รับทุนสนับสนุนโครงการ ในการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ โครงการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 12 สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์
ปีการศึกษา 2550-2551 – รางวัลชนะเลิศ ประเภทการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ประเภทคอมพิวเตอร์ควบคุมและบริการเครือข่าย การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์แห่งประเทศไทย
ปีการศึกษา 2548-2552 – ฝ่ายสารสนเทศ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
นายศีลวันต์ สถิตย์รัตนชีวิน
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
นายศีลวันต์ สถิตย์รัตนชีวิน เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจด้านการเตรียมความพร้อมและการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างเป็นองค์รวมในช่วงสุดท้ายของชีวิตโดยเฉพาะการพัฒนาวิธีประเมินอาการปวด สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่สามารถสื่อสารได้ ในช่วงชีวิตของมนุษย์สิ่งมีค่าที่สุดคือ เวลา เวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งคือเวลาในวาระสุดท้ายของชีวิต จากการศึกษาพบว่าถ้าเราสามารถดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรคและตรงกับความต้องการของตัวเอง ทำให้สามารถใช้เวลาช่วงสุดท้ายอย่างมีความหมายและมีความสุขได้จนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต (Palliative Care) ประกอบด้วย การวางแผนการรักษาล่วงหน้า การจัดการตัวโรค การดูแลด้านจิตสังคม และการควบคุมบรรเทาอาการ สำหรับการควบคุมบรรเทาอาการ ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือการประเมินอาการ ในปัจจุบันวิธีการประเมินอาการที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับคือการให้ผู้ป่วยเป็นผู้บอกถึงอาการของตัวเองว่าขณะนี้มีอาการอย่างไร แต่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถสื่อสารได้ การประเมินอาการให้มีความถูกต้องเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถควบคุมและบรรเทาอาการอย่างเหมาะสมได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้นจึงสนใจพัฒนาวิธีการประเมินอาการปวดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบรรเทาอาการที่มีประสิทธิภาพจนสามารถจากไปอย่างสงบได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต
โดยนายศีลวันต์ สถิตย์รัตนชีวิน มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
- ปีการศึกษา 2557 – เป็นผู้ร่วมรับทุนวิจัยจาก The Bill and Melinda GATE Foundation และได้รับการตอบรับนำเสนองานวิจัยในงาน PRESDA Foundation: Asia Healthcare without border งานวิจัย เรื่อง “Assessment of large HIV-prevention program impact on publication and social media: A Case of Avahan”
- ปีการศึกษา 2555 – เป็นผู้ร่วมวิจัยในงานวิจัยเรื่อง “Systematic scoping review on radiology and public health”ภายใต้การ สนับสนุน ของ RAD-AID International- Poster Presentation ในการประชุม the second Global Symposium on Health Systems Research 2012 จัดโดย Health System Global และ WHO, Beijing, China
- ปีการศึกษา 2554 – หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องทัศนคติในการดูแลตัวเองกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
- ปีการศึกษา 2553 – ได้รับรางวัลคะแนนสูงสุดในรายวิชาพระไตรปิฏกกับวิถีชีวิต (TIPITAKA and daily of life) ภาคการศึกษาต้น ประจำ ปีการศึกษา 2553 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปีการศึกษา 2552 – หัวหน้าทีมผู้แทนประเทศไทยในการอภิปรายงานวิจัยทางฟิสิกส์รายการ International Young Physicist Tournament –The Physics World Cup 2009 ณ เมือง Tianjin สาธารณรัฐประชาชนจีน, ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง เศรษฐศาสตร์ เพชรยอดมงกุฎระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากมูลนิธิร่มฉัตร และได้รับทุนการศึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
– ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง การแข่งขันตอบปัญหาเศรษฐกิจการเงินระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายระดับประเทศ จัด โดยธนาคารแห่งประเทศไทย, ร่วมรับทุนวิจัย YSC: Young Scientist Competition จากงานวิจัยเรื่อง Investigation on Critical Surface Tension of Hydrophobic Materials
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
นายสรวิศ โอสถาพันธุ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ |
นายสรวิศ โอสถาพันธุ์ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความสนใจจะทำการศึกษาวิจัยในเรื่อง กลไกความจำของเมตะบอลิสมระดับเหนือพันธุกรรมเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ในปัจจุบันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 340 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้โรคเบาหวานเป็นหนึ่งใน 5 โรคไม่ติดต่อที่สำคัญ ซึ่งมีประชากรไทยถึง 9.6% ที่ป่วยจากภาวะนี้และ เป็นสาเหตุการตายลำดับต้นๆ ของประชากรไทย โดยโรคเบาหวานสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็น โรคไตจากเบาหวาน ทำให้ไตวาย เส้นประสาทถูกทำลายจากเบาหวาน และ เท้าเบาหวาน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เลวลงเป็นอย่างมาก โดยการรักษาภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ยังไม่ได้ผลดีนัก ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ว่าเกิดจากกลไกความจำของเมตะบอลิสม ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของรหัสพันธุกรรมหลังจากที่เซลล์หลอดเลือดพบกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แล้วกระตุ้นให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระอย่างไม่เหมาะสมนำไปสู่การอักเสบของหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของโรคตามมา โดยนิสิตแพทย์สรวิศ มีความสนใจจะทำการศึกษาวิจัยในกลไกนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และหวังว่าจะนำไปสู่การรักษาใหม่ๆ ในอนาคต อันจะนำไปสู่การช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานต่อไป
โดยนายสรวิศ โอสถาพันธุ์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
- ปีการศึกษา 2557 – ทำการวิจัยเรื่อง “Clinical Inertia in The Management of Type 2 Diabetes Mellitus”ร่วมกับ อ.พญ.กัญชนา ง้าวสุวรรณ ได้รับเหรียญเงิน ในการแข่งขัน International Medical Challenge 2014 (CMU–IMC 2014) หัวข้อ “Pathophysiology and Pharmacology” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อุปนายกฝ่ายวิชาการสโมสรนิสิตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, เลขานุการ เหรัญญิก และพิธีกรในงานกีฬา 5 หมอสัมพันธ์, ผู้จัดโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นตอนที่ 2 ให้กับนิสิตแพทย์ มศว, วิทยากรในฐาน “จริยธรรมทางการแพทย์” ในงานค่ายสู่ฝันวันเป็นหมอ คณะแพทยศาสตร์ มศว
- ปีการศึกษา 2556 – คณะกรรมการผู้จัดการแสดงละครเวทีของคณะแพทยศาสตร์ เรื่อง ม่านขวัญ, วิทยากรแนะนำผู้สมัครเข้าเรียนใน โครงการร่วม ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มศว และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร, จัดกิจกรรมและเป็น วิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำคัญ 5 โรค ที่ หมู่บ้านโคกนนทรี ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี, คณะกรรมการปรับปรุง Pocket Book for Clinical Science by Medical Student ของ คณะแพทยศาสตร์ มศว
- ปีการศึกษา 2555 – จบการศึกษา Bachelor of Medical Sciences (First-Class Honours) จาก School of Medicine and Health Science, University of Nottingham, ทำการวิจัยเรื่อง “The Role of Phosphoglycerate Kinase and Glyceraldehyde 3-phosphate Dehydrogenase in Meningococcal Pathogenesis” ได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับ First-Class Honours เข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการ “ธนาคารคู่บ้านคู่เมือง” รุ่นที่ 58 ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน), เป็นตัวแทนนิสิตโครงการร่วมฯ เข้าร่วมประชุมประจำปีกับ Academic Committee, School of Medicine, University of Nottingham
- ปีการศึกษา 2554 – ได้คะแนนรวมในการสอบประจำชั้นปีที่ 2 สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ใน Faculty of Medicine, University of Nottingham และทำคะแนนสูงสุดในรายวิชา Clinical Laboratory Science II (A12 CLS) และรายวิชา Medical Microbiology (A13 MMB)
- ปีการศึกษา 2553 – ได้รับรางวัล Outstanding Cambridge Learner Awards จากการทำคะแนนสูงสุดในการสอบวิชา Physics, Cambridge A-Level Examinations
- ปีการศึกษา 2552 – ได้รับ Headmaster’s Scholarship สาขา Academic Excellence จาก Harrow International School Bangkok และเรียนจบด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 ปฏิบัติหน้าที่เป็น Chairperson ของ Human Rights Committee ในงาน Model United Nation ที่ Shrewberry International School