วันนี้ (30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556) เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการ โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการ โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช อาคารหอสมุดศิริราช ชั้น 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 ได้แก่
1. นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
2. นางสาวเพราพะงา อุดมภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายภควัต จงสถิตเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. นายวีรประภาส กิตติพิบูลย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. นายศุภวิชญ์ เจษฏาชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 ทั้งสิ้น 23 ราย จาก 10 สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 ราย คณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนฯได้พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน
ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556
นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจด้านการประยุกต์ใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการชะลอและการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปัจจุบันพบได้มากถึง 17% ของประชากร และมีแนวโน้มที่ต้องการการบำบัดทดแทนไตมากขึ้น ทั้งนี้การรักษาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการรักษาประคับประคองด้วยการฟอกไตทางช่องท้องหรือทางหลอดเลือด แม้ว่าผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากระบบสาธารณสุข แต่การรักษาดังกล่าวยังมีค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาวและไม่มีความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ส่วนการรักษาที่ทำให้หายขาด คือการปลูกถ่ายไตนั้นยังคงประสบปัญหาการรับบริจาคอวัยวะที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก การศึกษาวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด จึงเป็นแนวทางใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจ และอาจเป็นทางเลือกในการรักษาโรคไตในอนาคต
โดยนายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2555
– อุปนายกฝ่ายนอก สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
– Observership in Family medicine
– Mayo clinic Rochester Minnesota
– พิธีกรประจำ รายการ คิดวิทย์ Kids Sci รายการเกมส์โชว์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ทางช่อง Thai PBS
– รางวัลเรียนดี คะแนนสูงสุดรายวิชา อายุรศาสตร์ชั้นปีที่ห้า และศัลยศาสตร์ชั้นปีที่ห้า
ปีการศึกษา 2554
– Poster presentation หัวข้อ Opinions regarding end-of-life care from medical students’ perspective: What could be done to make it better? การประชุม Association of Medical Education 2011
– ประธานโครงการแข่งขันตอบปัญหาจุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์นานาชาติ (SIMIC 2012)
– หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาผลกระทบของวิกฤตการณ์อุทกภัย 2554 ต่อปัญหาสุขภาพในชุมชน
ปีการศึกษา 2553
-ประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ประจำนักศึกษาแพทย์ศิริราชรุ่น 119 สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
-หัวหน้าสายออกรับบริจาคธงเนื่องในวันมหิดล เขตยานนาวา
– ตัวแทนคณะร่วมการแข่งขันตอบปัญหา International medical physiology quiz
– สอบผ่านการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยได้คะแนนเป็นอันดับที่ 5 (percentile ที่ 99.82) จากนิสิตนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศ
– รางวัลเรียนดี คะแนนสูงสุดรายวิชาสรีรวิทยา และรายวิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน
ปีการศึกษา 2552
– รองประธานกิจการภายใน คณะกรรมการจัดการประชุมสามัญประจำปี (General assembly) แห่ง สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (International Federation of Medical Student Association) ครั้งที่ 59 ประจำเดือนมีนาคม
– ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Stanford Thai Exchange Program (STEP)
ปีการศึกษา 2551
– ผู้แทนประเทศไทยในการเข้าค่าย Asian Science Camp 2008 ดำเนินการคัดเลือกโดย มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาฯ (สอวน.)
ปีการศึกษา 2550
– ผู้แทนประเทศไทย ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการชีววิทยา นานาชาติ (International Biology Olympiad) ประจำปี รางวัลเหรียญทอง คะแนนรวมอันดับที่ 1 และคะแนนรวมภาคทฤษฎีสูงสุด ณ เมือง Saskatoon ประเทศ Canada
ปีการศึกษา 2548
– ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ระยะยาว จาก สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ปีการศึกษา 2547
-เหรียญเงินจากการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระดับมัธยมศึกษาตอนต้นระหว่างประเทศ (International Junior Science Olympiad)
– เยาวชนดีเด่นแห่งชาติและผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชนสาขา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556
น.ส.เพราพะงา อุดมภาพ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
น.ส.เพราพะงา อุดมภาพ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยด้าน โครงการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในประชากรไทย เพื่อก้าวสู่ยุคปลอดไวรัสตับอักเสบ บี ในประเทศไทย ความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความจริงที่ว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เป็นเหมือนภัยเงียบ ระยะแรกของการติดเชื้อ ไม่มีอาการ แม้แต่ผู้ป่วยจะเป็นตับแข็งแล้วก็ตาม กว่าจะมีอาการก็ต้องเสียหน้าที่มากแล้ว อาการจึงมักพบในระยะท้าย ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้มียารักษา ซึ่งสามารถควบคุมอาการของโรคได้อย่างดีมาก สามารถคุมโรคให้สงบและลดโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งตับหรือตับแข็งได้อย่างชัดเจน แม้จะไม่หายขาด ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องกินยาตลอดเพื่อป้องกันการดื้อยา คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงยาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ยังมีผู้ป่วยเพียงบางกลุ่มที่ตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจติดตามและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งปัญหาที่สำคัญที่สุดทั่วโลกคือ ปัญหาเรื่องความตระหนักรู้หรือ awareness ที่ทั่วโลกมีเพียง 41% โดยในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยจะได้รับยาเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนมีความตระหนักรู้ หรือ awareness นั่นเอง
โดยน.ส.เพราพะงา อุดมภาพ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2555
– วิทยากร งาน Siriraj IC Days 2012 “High Alert Organisms in Our Environment: How to Strike Back?” Session “Role of Hand Hygiene in Emerging Infectious Diseases”
– ประธาน โครงการแข่งขันตอบปัญหาความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ (SI QUIZ2012)
– ประธานฝ่ายวิชาการ โครงการแข่งขันตอบปัญหาจุลชีววิทยาทางการแพทย์และภูมิคุ้มกันวิทยา ระดับนานาชาติ (SIMIC2012)
ปีการศึกษา 2553
– รองประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับทวีปเอเชีย การประกวด Scientific and Public Poster Presentation งานโปสเตอร์เรื่อง ‘Elderly Rights and Welfare: Make it accessible’ ในงานประชุมนิสิตนักศึกษาแพทย์ภูมิภาคเอเชีย เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
– รางวัลเรียนดี จาก “คณะอาจารย์ผู้สอนวิชาเวชพันธุศาสตร์”
– เป็นตัวแทนคณะฯ เข้าประชุมใน session เรื่อง Media Program (Media PRE-GA) งานประชุม PRE-General Assembly March Meeting 2010 ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ ครั้งที่ 59
ปีการศึกษา 2547
– อาสาสมัครล่ามแปลภาษา ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ในเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ
โครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการ มีหลายโครงการ อาทิ
(1) Relation of watching lecture video recording and learning behaviour in preclinical medical students of a medicine school Bangkok
(2) ‘Community medicine: Its impact on students’ self-efficacy and attitudes’
(3) ‘The study of prevalence of inappropriate drug use in middle age and elderly in a rural community of Thailand’
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556
นายภควัต จงสถิตเกียรติ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายภควัต จงสถิตเกียรติ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับอณูพันธุศาสตร์เพื่อการรักษาโรคมะเร็งสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งสมองชนิด Glioblastoma ความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความจริงที่ว่ามะเร็งสมองชนิดดังกล่าว พบมากที่สุดในบรรดามะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ในระบบประสาทด้วยกัน นอกจากนี้ยังเป็นชนิดที่มีการดำเนินโรครวดเร็วรุนแรงที่สุด พยากรณ์โรคเลวร้ายที่สุด และมีอัตราการตายสูงที่สุดอีกด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดนี้เกือบทั้งหมดจะพิการ โดยจะมีอาการชัก อ่อนแรงอัมพาต เดินไม่ได้ หรือส่งผลกระทบให้ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไป เรียกได้ว่าผู้ป่วยจะสูญเสียคุณภาพชีวิตทั้งหมดก่อนที่วาระสุดท้ายจะมาถึงด้วยซ้ำ
ภควัตมีความฝันที่อยากจะเป็นประสาทศัลยแพทย์ผู้มีส่วนทำให้มะเร็งสมองชนิดนี้เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วก็ไม่เสมือนเป็นการนับถอยหลังสู่ความตายอีกต่อไป จึงสนใจที่จะทำการศึกษาวิจัยเพื่อค้นให้พบกลไกที่อยู่เบื้องหลังการแพร่กระจายที่รวดเร็วของโรคมะเร็ง ด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางการรักษาใหม่ๆ ในอนาคต
โดยนายภควัต จงสถิตเกียรติ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2556
– ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแลกเปลี่ยนปฏิบัติงานทางคลินิก ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ปีการศึกษา 2555
– ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายต่างประเทศของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์เอเชียแห่งประเทศไทย (Regional Chairperson of Asian Medical Students’ Association Thailand)
ปีการศึกษา 2554
– ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเพชรชมพูวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์
ปีการศึกษา 2553
– ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแลกเปลี่ยนทำวิจัยตามโครงการของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ ในหัวข้อ ลักษณะการแสดงออกของยีนในเซลล์ astrocyte ของสมองหนูทดลองภายใต้สภาวะที่มีและไม่มีพยาธิสภาพ (Characterization of gene expression in mouse brain astrocytes under physiological and pathophysiological conditions) ณ สถาบันเซลล์ประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอนน์ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ปีการศึกษา 2552
– ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้รับผิดชอบพิธีพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา และได้รับคัดเลือกให้เป็นฑูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (Young Thai Science Ambassador)
ปีการศึกษา 2551
– ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 19 ประจำปี 2551 (19th International Biology Olympiad 2008) ณ เมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
ปีการศึกษา 2550
– ได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิ สอวน. ให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์เอเชีย (Asian Science Camp) ครั้งที่ 1 ณ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณจากการนำเสนอแนวคิด เรื่อง การสร้างแบบจำลองทางไฟฟ้าของระบบประสาท
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556
นายวีรประภาส กิตติพิบูลย์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายวีรประภาส กิตติพิบูลย์ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจทำโครงการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาระบบโครงการบริหารจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างครบวงจรในประเทศไทย เนื่องจากแนวทางการดูแลรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวในอดีตนั้น มีข้อบกพร่องสำคัญคือไม่ได้เน้นถึงการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยทั้งในการติดตามอาการและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์การรักษา จึงมีการริเริ่มพัฒนาระบบให้การดูแลรักษาที่เรียกว่า “โครงการบริหารจัดการภาวะหัวใจล้มเหลว” ซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลรักษาที่เน้นการทำงานของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ เช่น พยาบาล เภสัชกร เพื่อให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพร่วมกับส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วย ซึ่งโครงการนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยนั้นการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการศึกษารูปแบบของโครงการบริหารจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างครบวงจรในต่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนารูปแบบโครงการในประเทศไทย อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และลดการสูญเสียทรัพยากรต่างๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะยาว
โดยนายวีรประภาส กิตติพิบูลย์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2555
– ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– ได้รับรางวัลนิสิตผู้ทำคะแนนสูงสุดในรายวิชามูลฐานการวิเคราะห์ทางเวชศาสตร์
ปีการศึกษา 2554
– ดำรงตำแหน่งหัวหน้านิสิตชั้นปีที่ 4 สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– ได้รับรางวัลนิสิตผู้ทำคะแนนสูงสุดในรายวิชาอายุรศาสตร์ และ สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ปีการศึกษา 2553
– ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายสวัสดิการ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– ประธานจัดงานมหกรรมตำราแพทย์ ครั้งที่ 24 ประจำปี 2553
– รองประธานและวิทยากรค่ายสอนหนังสือ แผนกศานติธรรม สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย จังหวัดกาฬสินธุ์
– ได้รับรางวัลนิสิตผู้ทำคะแนนสูงสุดในรายวิชาพยาธิสภาพทางจิต
-ได้รับคัดเลือกให้เป็นนิสิตในโครงการเพชรชมพู สาขาครูแพทย์คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา 2552
– ได้รับรางวัลนิสิตผู้ทำคะแนนสูงสุดในรายวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา คัพภวิทยาและพันธุศาสตร์ทางการแพทย์และประสาทศาสตร์
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556
นายศุภวิชญ์ เจษฎาชัย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นายศุภวิชญ์ เจษฎาชัย เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างระดับของวิตามินดีในเลือดกับผลการรักษาวัณโรค ความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยความตระหนักว่า วัณโรคยังคงเป็นโรคติดเชื้อที่ก่อปัญหาและส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขของไทยและหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่ประสิทธิภาพของสูตรการรักษาในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีการค้นคว้าเพื่อหาแนวทางการรักษาใหม่ โดยหลายการศึกษาพบว่าวิตามินดีมีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในการควบคุมการติดเชื้อวัณโรค แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงระดับของวิตามินดีที่เหมาะสมที่สามารถกระตุ้นหรือส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีความสามารถในการต่อต้านเชื้อวัณโรค ศุภวิชญ์จึงมีความสนใจที่จะทำการศึกษาเพื่อตอบคำถามดังกล่าว และเกิดความคิดริเริ่มในการนำวิตามินดีมาใช้ร่วมกับสูตรยาต้านวัณโรคที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่ชุมชน โดยมุ่งหวังเพื่อลดความสูญเสียจากวัณโรคทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
โดยนายศุภวิชญ์ เจษฎาชัย มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปีการศึกษา 2556
– ได้รับพระราชทานรางวัล โครงการคัดเลือกเยาวชนคนเก่ง ในโครงการด้วยรักและห่วงใย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
– ได้รับเลือกเป็นประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6
ปีการศึกษา 2555
– ได้รับเลือกเป็นประธานชมรมนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี และอุปนายกฝ่ายใน สโมสรนักศึกษารามาธิบดี
– เป็นผู้แทนนักศึกษาแพทย์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาร่างจรรยาบรรณนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย (Thai Medical Student’s Code of Conduct) และเข้าร่วมการประชุมยกร่างของคณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ แพทยสภา
ปีการศึกษา 2554
– ได้รับรางวัลผู้มีความประพฤติดีเยี่ยมและรางวัลผลการศึกษาดีเยี่ยม ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4
ปีการศึกษา 2553
– ได้รับคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศึกษาดูงาน ในโครงการ Exchange program 2010 ณ Jichi Medical University เมือง Tochigi ประเทศญี่ปุ่น
ปีการศึกษา 2552
– ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในค่ายวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ Asian Science Camp 2009 ณ เมือง Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับรางวัล Review Committee Award ในการทำ Poster presentation หัวข้อเรื่อง“The way to future-change”
-ได้รับเลือกเป็นประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2
ปีการศึกษา 2550
– ได้รับรางวัลระดับดีมาก (เหรียญเงิน) การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิก สอวน. ระดับชาติ ครั้งที่ 4 จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิก วิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.)ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ปีการศึกษา 2550
– ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบปัญหาวิชาการชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้รับโล่ พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานวันอานันทมหิดล