ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554

 วันนี้ (5 สิงหาคม พ.ศ. 2554)  เวลา 13.30 น.   ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สุพัฒน์  วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์    นายธานี  ทองภักดี   อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช   ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล             รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ  อัศวมงคลกุล  ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และศาสตราจารย์นายแพทย์สมภพ  ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล    ประจำปี 2554  ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช  อาคารหอสมุดศิริราช  ชั้น 4  โรงพยาบาลศิริราช  

     สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ประจำปี 2554  ได้แก่
1. นายกฤษพร  สัจจวรกุล                          คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. นางสาวจิดาภา  ว่องเจริญวัฒนา           คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายธภัทร  หว่านณรงค์                          คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
4. นายเสกข์  แทนประเสริฐสุข                   คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. นายสิขริณญ์  อุปะละ                              คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

     ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี  2554  ทั้งสิ้น  13 ราย  จาก  6  สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 13 ราย  คณะกรรมการคัดเลือกผู้ได้รับพระราชทานทุนของโครงการเยาวชนฯได้พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ. 2554   

    

     โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ตั้งขึ้นเมื่อวันที่  20  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการฯ  คณะกรรมการดำเนินการฯ  และคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน
     ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานวิจัย  ปฏิบัติวิชาชีพ  หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี   โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ  และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
   นายกฤษพร  สัจจวรกุล
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     นายกฤษพร  สัจจวรกุล เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยด้าน การพัฒนาระบบกุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบกุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทย เนื่องจากผู้ป่วยเด็กนั้นไม่ใช่ผู้ใหญ่ ตัวเล็ก การบริการทางสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการระบบการบริการที่มีความเฉพา   ถึงแม้ในปัจจุบันระบบเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทยกำลังพัฒนาขึ้นอย่างเป็นลำดับ แต่การบริการกุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทยนั้นโดยมากยังใช้ระบบการบริการร่วมกับการบริการเวชศาสตร์ฉุกเฉินของผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบกุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทยว่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการสาธารณสุขสำหรับเด็กและสามารถลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นแก่กลุ่มประชากรอันเป็นอนาคตของชาติได้

     นายกฤษพร  สัจจวรกุล มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
     ปีการศึกษา 2553    ได้รับเลือกเป็นตัวแทนนิสิตจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการประชุมเพื่อปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐาน  ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     ปีการศึกษา 2551    เป็นผู้ช่วยนักวิจัย โดยทำงานร่วมกับ ผศ.ดร.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ในการทำวิจัย Isolation of  cancer stem cells from adult glioblastoma multiforme using Musashi Reporter Construct ณ หน่วยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     ปีการศึกษา 2551     ผลการสอบเพื่อประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพ ประจำปีการศึกษา 2551 ขั้นตอนที่ 1 ได้คะแนน 252 คะแนน (อันดับที่ 2) คิดเป็นร้อยละ 84.0 99.92 เปอร์เซ็นไทล์ เมื่อเทียบกับผู้เข้าสอบทุกสถาบัน
     ปีการศึกษา 2550    Participation in the 6th Inter-Medical School Physiology Quiz (Professor A. Raman Challenge Trophy) held at University Malaya, Kuala Lumpur, Malaysia, on Saturday, 23rd August 2008
     ปีการศึกษา 2549    สอบเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อันดับที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2549
     ปีการศึกษา 2548    ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย International
Chemistry Olympiad (IChO) 2548
     ปีการศึกษา 2548   ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง การแข่งขันวิทยาศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ชิงทุนการศึกษาพระเทพภาวนาวิกรม ครั้งที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ปีการศึกษา 2548

นางสาวจิดาภา  ว่องเจริญวัฒนา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
     นางสาวจิดาภา ว่องเจริญวัฒนา   เป็นนักศีกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลมีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมิน Mechanical axis เพื่อใช้ในการเลือกวิธีการรักษาในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างเหมาะสม (The mechanical axis evaluation for the management of osteoarthritis of the knee)  เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงคนหนุ่มสาวในปัจจุบันก็เป็นโรคข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากการใช้เข่าอย่างผิดวิธี  โดยอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาที่สำคัญและมีผลกระทบต่อการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และยังมีผลต่อจิตใจ ทำให้รู้สึกท้อแท้ซึมเศร้าได้ อีกทั้งโรคนี้ยังมีผลกระทบต่อบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วย ทั้งทางด้านการดูแลรักษาและทางด้านค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นโรคข้อเข่าเสื่อมจึงไม่ได้เป็นปัญหาแค่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เป็นโรคที่มีผลกระทบในวงกว้างระดับชาติ ถ้าเราสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคได้ จะสามารถลดภาระของโรคต่อประชากรและประเทศชาติได้อีกมาก

     นางสาวจิดาภา  ว่องเจริญวัฒนา มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
     ปีการศึกษา 2554    ได้รับเลือกเป็นประธานชั้นปี นักศึกษาแพทย์ศิริราช ชั้นปีที่ 6
     ปีการศึกษา 2553    เป็นอุปนายกฝ่ายใน สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และ ประธานจัดกิจกรรมงาน “ประเพณีรับน้องข้ามฟาก  ประจำปี 2553” 
ปีการศึกษา 2553    เป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายต้อนรับ (ฝ่ายนักศึกษา) ในการจัดกิจกรรม Field trip ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม    “Prince Mahidol  Award Conference 2011” จากนานาชาติ และในการจัดงานคืนสู่เหย้า “120 ปี โรงเรียนแพทย์ ศิษย์เก่าศิริราช คืนสู่เหย้า”  ประจำปี 2553
       ปีการศึกษา 2553   เป็นพิธีกรบนเวที “ค่ายเส้นทางสู่หมอศิริราชสัญจร” ในงาน “120 ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช” ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
       ปีการศึกษา 2553    เป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์ ประชาสัมพันธ์การทำธงมหิดลและรับบริจาคธงเนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2553   ในรายการ Morning Talk ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT
      ปีการศึกษา 2552    ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษา ณ โรงพยาบาล Osaka Medical College เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
      ปีการศึกษา 2552    เป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์ไทยเข้าร่วมงานประชุมและนำเสนอการเรียนแพทย์และโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย  ในงานประชุม “10th International symposium on medical education”  ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
     ปีการศึกษา 2551    เป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์ไทยไปแข่งขันนำเสนองานวิจัย และ ได้รับรางวัลชนะเลิศ เรื่อง “ Risk factors of non-communicable diseases and quality of life of residents in  a University hospital in Thailand”  ในการประชุม 29th AMSA  (Asian Medical Student Association) ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
     ปีการศึกษา 2551    ได้รางวัลรองชนะเลิศในการประกวดโปสเตอร์รณรงค์เรื่อง  “Your Health Your Choice, Go for Water Drop Soda”    ของ AMSATH (Asian Medical Student Association of Thailand) ประเทศไทย
   

นายธภัทร  หว่านณรงค์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
     นายธภัทร  หว่านณรงค์   เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลมีความสนใจที่จะทำ “โครงการวิจัยและดูงานเพื่อศึกษาความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองและการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของประชากรไทย (Evaluation of stroke awareness and access to acute stroke care)” เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองก่อให้เกิดผลกระทบแก่สังคมทุกระดับ คนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคหลอดเลือดสมองไม่ถูกต้อง ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนในการป้องกันโรค ดังนั้นนโยบายการป้องกันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากเริ่มแก้ปัญหาที่ต้นตอ อันได้แก่ การเพิ่มพูนความตระหนักรู้ในโรคหลอดเลือดสมอง

     นายธภัทร หว่านณรงค์ มีเกียรติประวัติต่างๆ ดังนี้
      ปีการศึกษา 2553     ประธานฝ่ายปฏิคม สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
     ปีการศึกษา 2553     ประธานอนุกรรมการโครงการแข่งขันตอบปัญหาการประยุกต์ความรู้ปรีคลินิก (APK) สำหรับ นศพ.ชั้นปีที่ 3-5 ประจำปี 2553 
     ปีการศึกษา 2552    หัวหน้าโครงการวิจัยปัญหาและวางแผนการแก้ปัญหาทางสาธารณสุขของชุมชน เรื่อง “ผลการตั้งครรภ์และการ คลอดของวัยรุ่นทียบกับผู้ใหญ่ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม โรงพยาบาลบางสะพาน อำเภอบางสะพาน  จ. ประจวบคีรีขันธ์”
     ปีการศึกษา 2551    ได้รับคะแนนสูงสุดอันดับ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอันดับ 2 ของคณะแพทยศาสตร์          ทั่วประเทศ ในการสอบประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นตอนที่ 1
     ปีการศึกษา 2551    รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ ๕ ชื่อ  “เบญจมดิเรกคุณาภรณ์”
     ปีการศึกษา 2550    ประธานโครงการจิตอาสา “ทานตะวันสานรัก” ณ โรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก สำหรับเด็กกำพร้า              และยากจน
     ปีการศึกษา 2549     ผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 17 ที่ The National University of Rio Cuarto, Rio Cuarto, Cordoba, Argentina และได้รับรางวัลเหรียญทอง(อันดับ8) จากการเข้าร่วมแข่งขัน
ปีการศึกษา 2549      ได้รับคัดเลือกเป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
     ปีการศึกษา 2546    ได้รับคัดเลือกเป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ โดยสมาคมส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ
     นอกจากนี้นายธภัทร หว่านณรงค์ ยังเป็นผู้มีผลการเรียนดีเยี่ยม เกรดเฉลี่ยสะสม 3.99 ได้รับรางวัลเรียนดี และรางวัลเหรียญทองแดงอันแสดงถึงเป็นผู้สอบได้คะแนนเป็นเยี่ยมตลอดหลักสูตร ในรายวิชา ชีวเคมี กายวิภาคศาสตร์ จุลชีววิทยา พยาธิวิทยา พยาธิวิทยาคลินิก สรีรวิทยา และเภสัชวิทยา
    
    

    

    

นาย สิขริณญ์ อุปะละ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
     นาย สิขริณญ์ อุปะละ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดจากโรคเบาหวาน” เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของโลก รวมทั้งประเทศไทย  สถานการณ์เบาหวานปัจจุบันมีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่ออวัยวะต่างๆ มากมาย รวมถึงการรักษาที่มีอยู่เดิมยังไม่สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพการริเริ่มนำความรู้ของเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ จึงเป็นความหวังของการรักษาโรคเบาหวานแนวใหม่ให้กับผู้ป่วย เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยจากภาวะแทรกซ้อน และอัตราการตายของผู้ป่วยจากโรค

     นาย สิขริณญ์ อุปะละ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
     ปีการศึกษา 2554   ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนเข้าประกวดงานวิจัย ในงาน Leiden’s International Medical Student Conference (LIMSC) 2011 เมือง ไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์
     ปีการศึกษา 2553   เป็นตัวแทนนักวิจัยจากประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ประจำปี 2553 ครั้งที่ 60   สาขาเคมี ฟิสิกส์ สรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ณ เมืองลินเดาประเทศเยอรมัน
ปีการศึกษา 2553   ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการประชุม Euroscience Open Forum 2010 เมืองตูริน ประเทศอิตาลี
ปีการศึกษา 2553   ได้รับรางวัลเรียนดี ภาควิชาศัลยศาสตร์ ชั้นปีที่ 4
ปีการศึกษา 2553   ทำงานวิจัยเรื่อง “Elevation of Liver Enzymes in Thai Population with the Metabolic Syndrome”
ปีการศึกษา 2552    กรรมการฝ่ายการศึกษา สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 
ปีการศึกษา 2551    ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดงานวิจัย ในการประชุม Asian Medical Students’ Conference  หัวข้อ Noncommunicable Diseases and Health Promotion  เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ปีการศึกษา 2550    ได้รับรางวัลเรียนดี ชั้นปีที่ 1
ปีการศึกษา 2549    ได้รับรางวัลเหรียญทอง (ลำดับที่ 7 ของโลก) โอลิมปิกวิชาการนานาชาติ สาขาชีววิทยา ประเทศอาร์เจนตินา
    ปีการศึกษา 2548    ประธานค่ายบำเพ็ญประโยชน์ ณ โรงเรียนบ้านเขาวง จังหวัดอุทัยธานี

นายเสกข์  แทนประเสริฐสุข
           คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    นายเสกข์  แทนประเสริฐสุข เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยในการศึกษาระบบการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบในระยะเฉียบพลัน เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือภาวะสมองขาดเลือด หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าอัมพฤกษ์อัมพาตนั้นก่อให้เกิดปัญหาความทุพพลภาพแก่ประชากรในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการที่มีผู้ป่วยสมองขาดเลือดหลายรายต้องนอนติดเตียง อาศัยเครื่องช่วยหายใจ โดยที่ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างคนปกติ       การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบในระยะเฉียบพลันอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีจะช่วยลดความทุพพลภาพที่จะเกิดขึ้นตามมาได้อย่างมีนัยสำคัญ  ซึ่งในประเทศไทยของเรานั้นมี “ความรู้” เกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบในระยะเฉียบพลันเป็นอย่างดีแล้ว  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ “การปฏิบัติ” ในประเทศไทยเรานั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้โรคหลอดเลือดสมองตีบยังคงเป็นภัยร้ายต่อประชากรไทยในปัจจุบัน  จึงเลือกที่จะดำเนินโครงการนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่มีประสิทธิภาพในศูนย์โรคหลอดเลือดสมองชั้นนำระดับโลก แล้วนำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวกลับมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยต่อไป

     นายเสกข์  แทนประเสริฐสุข มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
     ปีการศึกษา 2553    ดำรงตำแหน่งอุปนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2553 รับผิดชอบดูแลฝ่ายกีฬา, ฝ่ายสวัสดิการ, แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ และการติดต่อกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
     ปีการศึกษา 2553    เป็นนิสิตผู้รับผิดชอบกิจกรรมโครงการนิสิตแพทย์จุฬาฯ ร่วมใจ ต้านไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จัดขึ้นบริเวณสยามสแควร์ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553
    ปีการศึกษา 2553    เป็นนิสิตผู้รับผิดชอบโครงการปันเลือดเพื่อพ่อ (โครงการบริจาคโลหิตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี 2553)
    ปีการศึกษา 2551   ได้เข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาสรีรวิทยาระดับนานาชาติครั้งที่ 6 ที่ University of Malaya กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ได้รับคะแนนสูงสุดในการสอบข้อเขียน และได้รับรางวัลคะแนนรวมประเภททีมอันดับที่ 1 ในการสอบข้อเขียน
    ปีการศึกษา 2550-2551    เป็นวิทยากรกิจกรรมค่ายสอนหนังสือประจำปี ณ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สกลนคร จังหวัดสกลนคร และโรงเรียนบ้านนาคูพัฒนา กรป.กลางอุปถัมภ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามลำดับ
     ปีการศึกษา 2550- 2551   ได้รับคะแนนสูงสุดรายวิชาประสาทศาสตร์ รายวิชาเมตาบอลิสมและโภชนาการ รายวิชาวิทยาภูมิคุ้มกันพื้นฐาน และรายวิชาโลหิตวิทยาทางคลินิกและการติดเชื้อทั่วร่างกาย ขณะศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    
    ปีการศึกษา 2547   ได้รับรางวัลชมเชย ในการแข่งขันตอบปัญหาเคมีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    ปีการศึกษา 2546-2548   ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 และรางวัลยอดเยี่ยมรายวิชาสังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ขณะศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญ