วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2558) เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 24 ประจำปี 2558 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (Professor M. Mower) จากประเทศสหรัฐอเมริกา
สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ เซอไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot) จากสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ทั้งสิ้น 51 ราย จาก 19 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2558, 2557, 2556 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558
โดยระยะเวลา 24 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 70 ราย ในจำนวนนี้มีผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล รวม 4 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ประจำปี 2558 ผู้ได้รับรางวัล 2 ใน 3 คน เคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมาก่อน คือ
– ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิดหนึ่งชื่อ Streptomyces avermitilis จนสามารถสังเคราะห์ยา Ivermectin ใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง
– ศาสตราจารย์ตู โยวโยว เป็นสมาชิกของกลุ่ม China Cooperative Research Group on Qinghaosu and its Derivatives as Antimalarials ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากผลงานสารสกัดชิงเฮาซู จนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย
ในอดีตอีก 2 ราย คือศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ในปี 2548 ด้วยการค้นพบเดียวกัน
อีกท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 จากการค้นพบเดียวกันและ 1 ราย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมาคือ แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน รับพระราชทานรางวัลสมแด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2549 และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย คือศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ รับพระราชทาน ปี 2539 และนายแพทย์ วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ รับพระราชทาน ปี 2552
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ.2559 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2559 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถา เกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
สาขาการแพทย์
ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ ศาสตราจารย์อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ และศาสตราจารย์สรีรวิทยาและชีวฟิสิกส์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเวอร์ด กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา |
ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ เป็นผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย หรือเอไอซีดี (AICD: Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) และเป็นผู้คิดค้นหลักของเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะ หรือซีอาร์ที (CRT: Cardiac Resynchronization Therapy)
ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ ขณะทำการวิจัยโครงการยาหลอดเลือดหัวใจ ณ โรงพยาบาลไซนาย เมืองบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2512 ได้ร่วมกับนายแพทย์มิเชล มิโรวสกี แพทย์ชาวอิสราเอล คิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติชนิดวีเอฟ (VF =ventricular fibrillation) และวีที (VT=ventricular tachycardia) ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคหัวใจได้
เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกายนี้ ใช้ฝังไว้ในตัวผู้ป่วย สามารถทำงานได้ทันทีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดภายนอก ซึ่งอาจไม่มีอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้ลดอัตราการตายจากภาวะดังกล่าวได้มาก แนวคิดของอุปกรณ์นี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2512 และมีการฝังเข้าในตัวผู้ป่วยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2523 ต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2527 การศึกษาทางคลินิกในหลายสถาบัน พบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ดีกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีการฝังอุปกรณ์นี้ประมาณ ปีละ 200,000 คน และมีผู้ใช้อุปกรณ์นี้แล้วประมาณ 2-3 ล้านคนทั่วโลก มีประสิทธิภาพในการแก้ไขความผิดปรกติของการเต้นหัวใจสูง ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่รอดชีวิตมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย
ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย แมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝึกอบรมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ณ โรงพยาบาลไซนาย เมืองบัลติมอร์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558
สาขาการสาธารณสุข
เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต ผู้อำนวยการสถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และศาสตราจารย์ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยา และสาธารณสุข ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และนายกแพทยสมาคมโลก
|
เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต มีผลงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาอย่างเป็นระบบมานานกว่า 35 ปี โดยเน้นเกี่ยวกับบทบาทของเชื้อชาติ วิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐานะ ความไม่เท่าเทียมกัน ปัจจัยทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีต่อสุขภาวะ ความอายุยืน และโอกาสในการเกิดโรคของประชากรในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อคุณภาพ (Social Determinants of Health) ซึ่งเป็นการประเมินปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การป้องกันโรค และการสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของคนอย่างยั่งยืน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา รวมถึงการคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน อาชีพ และรายได้ ซึ่งรัฐบาลของประเทศอังกฤษได้นำองค์ความรู้นี้ไปพัฒนาประเทศ และได้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้นำแนวคิดนี้ไปวางแผนกลยุทธ์เป็นนโยบายสาธารณะ มีผลต่อแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพทั่วโลก ส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาวะที่ดี ลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางสุขภาพ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก
เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตทางระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเมืองเบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา