วันที่ 3 ธันวาคม 2552 เวลา 10.30 น. ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการ ตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 18 ประจำปี 2552 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์แอนน์ มิลส์ (Professor Anne Mills) สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร (Dr.Wiwat Rojanapithayakorn) และนายมีชัย วีระไวทยะ (Mr. Mechai Viravaidya)
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ทั้งสิ้น 66 ราย จาก 35 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2552, 2551, 2550 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 โดยระยะเวลา 17 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 51 ราย ในจำนวนนี้ มี 2 ราย ที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่ เจมส์ มาร์แชล ปี 2548 และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน ปี 2551 และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2 ราย คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ ปี 2539
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา โดยแต่ละรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2553 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยก่อนนั้น 1 วัน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552
สาขาการแพทย์
ศาสตราจารย์แอนน์ มิลส์
ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย London School of Hygiene and Tropical Medicine
มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร
ศาสตราจารย์แอนน์ มิลส์ เป็นผู้นำในการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการคลังสุขภาพ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก โดยอาศัยข้อค้นพบที่ว่า “การลงทุนด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมในสังคม” ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั่วโลก ในการลงทุนด้านสุขภาพและการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์แอนน์ มิลส์ ยังมีบทบาทอย่างสูงในการสร้างความเข้มแข็งแก่นักวิจัยและเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรวิจัยในประเทศกำลังพัฒนาในแถบอัฟริกาและเอเซีย โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การคลังสุขภาพ การวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพโดยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และโครงการวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมากมายจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายการดำเนินการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขไปทั่วโลก
ผลงานของ ศาสตราจารย์แอนน์ มิลส์ ก่อให้เกิดการลงทุนด้านสุขภาพมากกว่า 4 เท่าในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สุขภาพของมวลมนุษย์ได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาที่สำคัญในระดับประเทศและระดับโลก อัตราการเสียชีวิตของเด็กและคนจนในทวีปอัฟริกาและทวีปเอเชียลดลงอย่างชัดเจน เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์นับพันล้านคนทั่วโลก
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552
สาขาการสาธารณสุข
นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร
ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย
อดีตผู้อำนวยการคนแรก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ขณะรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 4 จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2532 ได้ริเริ่มโครงการถุงยางอนามัย 100% (100% Condom Use Programme) ขึ้นในจังหวัดราชบุรี โดยการสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นของการป้องกันโรคเอดส์แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายเพศพาณิชย์และหญิงบริการ จนสามารถส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยแบบผูกขาด ให้หญิงบริการทั้งจังหวัดปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย (No Condom – No Sex) ส่งผลให้การติดเชื้อเอดส์ในหญิงบริการลดลงอย่างมาก และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ในสังคมได้ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร จึงได้ดำเนินการแพร่ขยายโครงการถุงยางอนามัย 100% ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้การมีผู้ป่วยเอดส์ใหม่ลดลงจาก 400,000 ราย ในปี พ.ศ.2534 เหลือน้อยกว่า 14,000 รายในปี พ.ศ.2544
นอกจากนี้ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ยังได้นำโครงการถุงยางอนามัย 100% ไปใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศได้แก่ ประเทศกัมพูชา, พม่า, จีน, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และลาว ซึ่งก็ปรากฏผลสำเร็จด้วยดีเช่นกัน องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก, UNAIDS, USAIDS ให้การยอมรับว่าโครงการถุงยางอนามัย 100% เป็นวิธีการป้องกันโรคเอดส์ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก อีกทั้งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเปลี่ยนพฤติกรรมอีกด้วย ผลงานถุงยางอนามัย 100% ของ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์อย่างมาก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552
สาขาการสาธารณสุข
นายมีชัย วีระไวทยะ
ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
ประเทศไทย
นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น “สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน” (Population and Community Development Association เรียกย่อ ๆ ว่า PDA) ให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวแก่หญิงชนบท สนับสนุนการคุมกำเนิดขั้นพื้นฐานด้วยการใช้ถุงยางอนามัย โดยรณรงค์สื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์จนทำให้การใช้ถุงยางอนามัยไม่ใช่สิ่งลึกลับ น่าอับอาย หรือเป็นสิ่งต้องห้าม แต่สามารถกล่าวถึงและใช้งานเป็นของธรรมดาอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งชื่อ “มีชัย” เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงถุงยางอนามัย
ผลงานของ นายมีชัย วีระไวทยะ ได้กระตุ้นให้รัฐบาลและสังคมทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งมีส่วนช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย และเมื่อโรคเอดส์ระบาดในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ระหว่างปี พ.ศ.2523 – 2533 นายมีชัย วีระไวทยะ ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิธีการสื่อสารเรื่องโรคเอดส์ในระดับชาติ และการรณรงค์ป้องกันที่มีส่วนสำคัญๆ หลายเรื่อง รวมถึงการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในโครงการถุงยางอนามัย 100% ด้วย เป็นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีในเวทีระดับโลกอีกด้วย
ผลงานการเผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ของ นายมีชัย วีระไวทยะ จึงเป็นต้นทางการก่อประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์นับหลายร้อยล้านคนทั่วโลก