ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดตั้ง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ.2535 ดำเนินการโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลแก่บุคคล หรือองค์กรทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมานั้น
ในปีพ.ศ.2549 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจำนวน 59 ราย จาก 29 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการได้พิจารณากลั่นกรองและคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้พิจารณาและได้นำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย
คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 เรียบร้อยแล้ว มีมติ :
มอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2549 แก่คณะแพทย์ผู้อุทิศตนศึกษาค้นคว้าและพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง โดยการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่ (Oral Rehydration Solution, ORS หรือ Oral Rehydration Therapy, ORT) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบพอเพียง ที่มีประสิทธิภาพสูงไม่จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ขาดเกลือแร่และน้ำจากโรคอุจจาระร่วงได้ผลอย่างดียิ่ง อีกทั้งมีราคาถูกผู้ป่วยและครอบครัวสามารถดูแลได้ด้วยตนเอง เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาตลอดจนประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ประมาณว่าก่อนมีการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่รักษา เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงราว 1,500 ครั้งต่อปี และเสียชีวิตราว 5 ล้านคนต่อปีแต่ภายหลังการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่รักษา สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ปีละมากกว่า 3 ล้านคน นับว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของมวลมนุษยชาติ วารสารการแพทย์แลนเซทได้ยกย่องว่าเป็นการค้นพบทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งแห่งทศวรรษที่ 20
คณะแพทย์ดังกล่าวที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2549 มี 4 ท่าน คือ
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2549 สาขาการแพทย์
ศาสตราจารย์นายแพทย์สแตนลีย์ จี ชูลท์ช (Professor Stanley G. Schultz)
ศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยา และเภสัชวิทยาผสมผสาน (Integrative Biology and Pharmacology) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทกซัส นครฮุสตัน สหรัฐอเมริกาศาสตราจารย์นายแพทย์แสตนลีย์ จี ชูลท์ซ ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกลไกการดูดซึมและการนำพาของไอออนต่างๆ และเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบความรู้พื้นฐานว่าน้ำตาลสามารถช่วยให้การดูดซึมของเกลือโซเดียมในลำไส้เล็กดีขึ้นโดยน้ำตาลจับคู่กับโซเดียม จะถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ของลำไส้เล็กดีกว่าโซเดียมตัวเดียว ความรู้พื้นฐานนี้ได้รับการยอมรับทั่วโลกสามารถอธิบายกลไกทางวิทยาศาสตร์ว่า เหตุใดเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ประกอบด้วยน้ำตาลและเกลือจึงสามารถแก้ไข “ภาวะขาดน้ำ” ในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงได้เป็นรากฐานของการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่รักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงอย่างแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
|
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2549 สาขาการสาธารณสุข
นายแพทย์เดวิด อาร์ นาลิน (Dr. David R. Nalin)
อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการแผนกวัคซีน บริษัท เมอร์ค แอนด์ โค อิงค์มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา นายแพทย์เดวิด อาร์ นาลินได้ทำการศึกษาทดลองทางคลินิก ในทศวรรษที่ 1960 ร่วมกับ นายแพทย์ริชาร์ด เอ แคชและทีมผู้วิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยอหิวาตกโรค ขององค์การซีโต้แห่งประเทศปากีสถาน (Pakistan – SEATO Cholera Research Laboratory) ณ เมืองธากา ประเทศปากีสถาน (ปัจจุบันคือกรุงธากา ประเทศบังคลาเทศ) จนประสบความสำเร็จในการทดสอบว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ สามารถใช้แก้ไข “ภาวะขาดน้ำ” ในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแทนการให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำได้
ซึ่งต่อมาได้รับการค้นคว้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในห้องวิจัยสถาบันค้นคว้าในประเทศบังคลาเทศ และอินเดีย นอกจากนี้ นายแพทย์เดวิด อาร์ นาลินยังได้เป็นที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก และมีบทบาทสำคัญ ในการคิดค้นและพัฒนาเครื่องดื่มเกลือแร่สูตรสากล ซึ่งสามารถใช้แก้ไข “ภาวะขาดน้ำ” ในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ในประเทศคอสตาริกา จาไมกา จอร์แดน และปากีสถาน อีกด้วย
|
นายแพทย์ริชาร์ด เอ แคช (Dr. Richard A. Cash)
นายแพทย์ริชาร์ด เอ แคช (Dr. Richard A. Cash) อาจารย์อาวุโส ภาควิชาประชากรและสาธารณสุขระหว่างประเทศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นครบอสตันสหรัฐอเมริกา นายแพทย์ริชาร์ด เอ แคช หลังจากสำเร็จแพทย์ฝึกหัด จากนครนิวยอร์คแล้วได้เข้าร่วมงานวิจัยกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) และได้ถูกส่งตัวมาทำงานที่ห้องปฏิบัติการวิจัยอหิวาตกโรคขององค์การซีโต้แห่งประเทศปากีสถาน (Pakistan – SEATO Cholera Research Laboratory) ณ เมืองธากา ประเทศปากีสถาน (ปัจจุบันคือกรุงธากา ประเทศบังคลาเทศ)
โดยได้ร่วมงานวิจัยกับ นายแพทย์เดวิด อาร์ นาลิน และทีมงาน ได้มีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษาทางคลินิก ซึ่งยืนยันว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ให้ทดแทนทางปากนั้นสามารถแก้ไข “ภาวะขาดน้ำ” ในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงได้ผลดีจนนำไปสู่การพัฒนาประยุกต์ใช้เครื่องดื่มอย่างแพร่หลายทั่วโลกในเวลาต่อมา
|
นายแพทย์ดิลิป มหาลานาบิส (Dr. Dilip Mahalanabis)
นายแพทย์ดิลิป มหาลานาบิส (Dr. Dilip Mahalanabis) ผู้อำนวยการสมาคมการศึกษาประยุกต์ (Director, Society for Applied Studies) เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย นายแพทย์ดิลิป มหาลานาบิสเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับเครื่องดื่มเกลือแร่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2509 (ค.ศ.1966) ในฐานะนักวิจัยของศูนย์วิจัยทางการแพทย์และฝึกอบรมระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้นส์ ณ เมืองกัลกัตตาประเทศอินเดีย เมื่อเกิดสงครามระหว่างปากีสถาน และอินเดีย ในปีพ.ศ.2513 นั้น
นายแพทย์ดิลิป มหาลานาบิส ได้นำเครื่องดื่มเกลือแร่มาใช้ในผู้ป่วยที่เกิดโรคอุจจาระร่วง จากการระบาดของอหิวาตกโรคในค่ายผู้อพยพลี้ภัยที่รัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งมีผู้อพยพราว 350,000 คน นายแพทย์ดิลิปมหาลานาบิส ได้ใช้เครื่องดื่มเกลือแร่รักษาผู้ป่วยกว่า 3,000 คนสามารถลดอัตราการตายจาก 20 – 30 % เหลือเพียง 3 % รักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้หลายพันคนนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเครื่องดื่มเกลือแร่ มาใช้รักษาผู้ป่วยจำนวนมากในสถานการณ์จริง ทำให้ได้รับความสนใจ และยอมรับจากองค์กรสาธารณสุขระหว่างประเทศนำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน
|
ผลงานของนายแพทย์เดวิด อาร์ นาลิน, นายแพทย์ริชาร์ด เอ แคช และนายแพทย์ดิลิป มหาลานาบิส เป็นความเกี่ยวเนื่อง ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลกนำไปสู่การประยุกต์ใช้เครื่องดื่มเกลือแร่ ในการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงอย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ประมาณการว่าปีหนึ่งๆมีการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่ราว 500 ล้านซอง ในประเทศพัฒนาราว 60 ประเทศช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก
ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ