แถลงข่าวผลการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555

วันนี้     (22  พฤศจิกายน 2555)   เวลา 14.00 น.         ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม   คชินทร  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช   ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์     ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ครั้งที่ 21  ประจำปี  2555    ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก  ตึกสยามินทร์  ชั้น 2  โรงพยาบาลศิริราช

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์  ได้แก่  เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์  (Sir Michael  David Rawlins)  จากสหราชอาณาจักร  สาขาการสาธารณสุข  ได้แก่  ดร.อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก  (Dr.Uche  Veronica  Amazigo)  จากประเทศไนจีเรีย

ทั้งนี้  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555 ทั้งสิ้น  75 ราย  จาก  34  ประเทศ  คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2555, 2554, 2553 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่  9 พฤศจิกายน  2555

โดยระยะเวลา   20  ปี ที่ผ่านมา    มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น  62  ราย  ในจำนวนนี้  มี 2 ราย ที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ  ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่  เจมส์  มาร์แชล  รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2544  ต่อมารับรางวัลโนเบิลปี 2548  และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ฮารัลด์  ซัวร์  เฮาเซน  รับพระราชทานรางวัลเเด็จฟ้ามหิดล ปี2548  และรับรางวัลโนเบิล ปี 2551    และ 1 ราย  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมาคือ  แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน ปี 2549     และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  4 ราย  คือ   ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์  ตู้จินดา  และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา   นิมมานนิตย์  ปี 2539  และนายแพทย์วิวัฒน์  โรจนพิทยากร  และนายมีชัย  วีระไวทยะ  ปี 2552

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น      เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และด้านการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล,  ประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  100,000  เหรียญสหรัฐ

พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  จะจัดขึ้นในปลายเดือนมกราคม  พ.ศ. 2556       ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   โดยก่อนวันงานพิธีพระราชทานรางวัลฯ มีกำหนดการจะมาเยือนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ      และแสดงปาฐกถา เกียรติยศ  ในผลงานที่ได้รับด้วย

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555
สาขาการแพทย์
เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอวลินส์  (Sir Michael David Rawlins)

 

ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์
(National Institute for Health and Clinical Excellence, NICE)
ศาสตราจารย์กิติมศักดิ์  วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน
(London School of Hygiene and Tropical Medicine) มหาวิทยาลัยลอนดอน,
นายกราชแพทยสมาคมแห่งประเทศอังกฤษ (Royal Society of Medicine)
สหราชอาณาจักร

    เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์  เป็นทั้งผู้นำแนวคิดและผู้ปฏิบัติในการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลทางการแพทย์  ที่สามารถตรวจสอบได้มาประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของยา เครื่องมือต่างๆ  และวิธีการรักษา  รวมทั้งได้กำหนดคู่มือและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับสูงสุดและความคุ้มค่าของงบประมาณ  เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือ ไนซ์ (NICE)  ขึ้นในปี พ.ศ.2542  เพื่อดำเนินงานตามแนวคิดดังกล่าว ประเมินผลอย่างเป็นระบบ  ทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต   รวมทั้งครอบคลุมผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม  คู่มือและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย  สามารถใช้ในการตัดสินจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในการรักษาและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม  มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
    ผลการดำเนินงานของเซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์    ก่อให้เกิดการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี  มาตรฐานคุณภาพอย่างดีเลิศ เหมาะสม และคุ้มค่าทั่วทั้งสหราชอาณาจักร  และมีการนำไปเผยแพร่เป็นแม่แบบ และประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

เซอร์ ไมเคิล  เดวิด รอว์ลินส์  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลเซนต์โทมัส  มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555
สาขาการสาธารณสุข    ดร. อูเช   เวโรนิกา  อะมาซิโก   (Dr.Uche  Veronica  Amazigo )  

 

อดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟริกา
(African Programme for Onchocerciasis Control หรือ APOC)
องค์การอนามัยโลก
ประเทศไนจีเรีย

     ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก      เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาชุมชนกว่า  500,000 ชุมชนใน  19 ประเทศ  ของทวีปอัฟริกา  ให้มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการสาธารณสุข โดยระหว่างดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟริกา  ระหว่างปี พ.ศ.2548-2554  ได้พัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่สามารถกำหนดการรักษา (communiy-directed treatment)  โดยการกระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิแก่คนในชุมชน โดยอาสาสมัครในชุมชน ในเวลาที่เหมาะสม  ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการควบคุมโรคอย่างชัดเจน และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์  อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพในชุมชน  ส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงอย่างมาก  ประมาณการว่าภายในปี พ.ศ.2558 ประชากรกว่า 90 ล้านคนต่อปี จะได้รับยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิอย่างสม่ำเสมอ และสามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ปีละกว่า  40,000 ราย ความสำเร็จเหล่านี้  เกิดจากการเชื่อมโยงงานวิจัยและระบบการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นบทบาทของชุมชนเป็นสำคัญ
       นอกจากนี้  “ชุมชนผู้กำหนด”  ยังมีผลต่อระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นและการควบคุมโรคอื่นๆ ด้วย  โดยมีการประเมินว่าแนวทางการดำเนินการดังกล่าว  ส่งผลให้ประชากรกว่า  11 ล้านคนในอัฟริกา  ได้รับประโยชน์จากการควบคุมมาลาเรีย และประชากรกว่า 37 ล้านคน  ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบ การบริการสาธารณสุขด้านอื่นๆ อีกด้วย
ดร. อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาและปรสิตวิทยาทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย  ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านโรคเขตร้อน จากสถาบันBernhard-Nocht Institute of Tropical Medicine   สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี   และการสาธารณสุขระหว่างประเทศ  จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา