ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ วาเลนติน ฟัสเตอร์

สหรัฐอเมริกา
2563 in Medicine


ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ วาเลนติน ฟัสเตอร์  (Valentin Fuster, M.D., Ph.D.)

ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลเม้าท์ไซนาย นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

หัวหน้ากองบรรณาธิการ วารสารวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกา

สหรัฐอเมริกา

 

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ วาเลนติน ฟัสเตอร์   สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยบาเซโลน่า ประเทศสเปน  และดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สหราชอาณาจักร

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์  ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงบทบาทของเกล็ดเลือดในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ  โดยเริ่มในสัตว์ทดลอง และต่อมาได้ต่อยอดมาเป็นการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย  ได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วย อีกทั้งองค์ความรู้ที่ได้นี้มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดในการสร้างขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยา เพื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด   องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของ  ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฟัสเตอร์  ได้ช่วยทำให้อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในผู้ป่วยลดลงอย่างมาก    และยังช่วยปรับปรุงให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

จากผลงานของศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วาเลนติน ฟัสเตอร์ ที่เชื่อมโยงนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยพื้นฐาน ไปต่อยอดจนกระทั่งเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ถูกนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดที่ตีบตัน ผลงานนี้ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนับล้านคนทั่วโลก