นายแพทย์ จอห์น บี รอบบินส์

นายแพทย์ จอห์น บี Robbins M.D.

สหรัฐอเมริกา
2560 in Public Health


นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อและอิมมูโนวิทยา เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนแพทย์อยู่ ๓ ปี แล้วย้ายมาทำงานวิจัยที่สถาบันสุขภาพเด็ก และพัฒนามนุษย์แห่งชาติจนเกษียณอายุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕

ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ ร่วมกับ นายแพทย์เดวิด เฮช สมิธ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์ ร่วมกับ แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน แห่งสถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิจัย ๒ กลุ่ม ที่ได้ศึกษาวิจัยแบบคู่ขนานและเป็นอิสระต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ เกี่ยวกับกลไกก่อโรค และการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฮิบ (Haemophilus influenzae type b หรือ Hib) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี โรคดังกล่าวมีอัตราตายสูง และหากรอดชีวิตอาจเกิดความพิการอย่างถาวรได้ วัคซีนชนิดแรกที่ผลิตขึ้นเป็นวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ ซึ่งเป็นโมเลกุลน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบในแคปซูลของเชื้อ แต่พบว่า วัคซีนโพลีแซคคาไรด์นี้ ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า ๑๘ เดือนซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดได้ เนื่องจากน้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี จึงได้มีการปรับปรุงโดยการนำโมเลกุลโปรตีนมาเชื่อมต่อกับน้ำตาล ซึ่งพบว่าทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นมาก รวมถึงในเด็กเล็ก เรียกว่าวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกต (Hib conjugate vaccine) และได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุ ๒ เดือนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา
ศาสตราจารย์ นพ.มธุราม ซานโตชาม แห่งมหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกินส์ มีบทบาทสำคัญในการศึกษาระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อฮิบ และได้แสดงข้อมูลทางคลินิกว่าโรคติดเชื้อฮิบป้องกันได้ด้วยภูมิคุ้มกัน รวมถึงศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮิบหลายชนิด ผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่การผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกตในเด็กทุกคน ต่อมาได้เป็นผู้วิจัยหลักในโครงการ ฮิบ อินนิชิเอทีฟ (Hib Initiative) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสนับสนุนการให้วัคซีนทั่วโลก ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีการฉีดวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกตเป็นวัคซีนพื้นฐานได้กว่า ๑๙๐ ประเทศ

หลังจากมีการฉีดวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกต พบว่าอัตราการเกิดโรคและการตายจากเชื้อฮิบในเด็กเล็กลดลงกว่าร้อยละ ๙๕-๙๙ และป้องกันการเกิดโรคในเด็กได้กว่าร้อยล้านคนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ประมาณมาณการว่า ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จะมีเด็กกว่า ๗ ล้านคนที่รอดชีวิตจากเชื้อฮิบเนื่องมาจากการได้รับวัคซีนนี้

ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ จากชนิดโพลีแซคคาไรด์ มาสู่ชนิดคอนจูเกตซึ่งเป็นวัคซีนมาตรฐานในปัจจุบัน ของศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์, นพ.จอห์น บี รอบบินส์ และ พญ.ราเชล ชเนียสัน รวมถึงผลงานของ ศาสตราจารย์ นพ.มธุราม ซานโตชาม ในฐานะผู้นำโครงการฮิบ อินนิชิเอทีฟ ซึ่งผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนฮิบสำหรับเด็กทุกคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของเด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

*GAVI ย่อจาก Global Alliance for Vaccines and Immunization
**นพ.เดวิด เอช สมิธ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒