นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล (Bernard Pécoul, M.D., MPH.)
ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร องค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย
Drugs for Neglected Diseases initiative (DNDi)
สาธารณรัฐฝรั่งเศส
นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคลมองท์ เฟอร่องด์ (Clermont-Ferrand University) สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
ก่อนที่ นายแพทย์พีคูล จะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) นั้น นายแพทย์พีคูล เป็นผู้อำนวยการบริหารในองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงยาจำเป็นของกลุ่มประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเซีย
ในขณะที่ทำงานในประเทศยูกันดา นายแพทย์พีคูล พบมีการใช้ยา เมลาโซพรอล (Melarsoprol) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารหนู ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็น โรคแอฟริกัน ทริปาโนโซมิเอซิส (African trypanosomiasis) หรือ โรคเหงาหลับ (Sleeping sickness) และพบผู้ป่วย 1 ราย ใน 20 รายที่ได้รับอนุพันธ์นี้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ที่มีการขาดยารักษาที่มีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงที่รุนแรงนี้ ทำให้ นายแพทย์พีคูล ตัดสินใจจัดทำ โครงการจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative – DNDi) ขึ้นในปี พ.ศ.2546 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการรักษาที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ถูกละเลย
ภายใต้การบริหารของ นายแพทย์พีคูล โครงการจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย ได้ขยายเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ไม่แสวงหาผลกำไร สร้างความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนหลากหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิบิลเกตส์, เวลคัม ทรัส, หน่วยงานในยุโรปและบริษัทยาหลายแห่ง จนถึงปัจจุบันก่อให้เกิดวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ถูกละเลย รวม 8 ชนิด รักษาโรคมาลาเรีย โรคเหงาหลับ โรค Visceral leishmaniasis และโรค Chagas disease
ยาเหล่านี้ถูกบรรจุให้เป็นแนวทางในการรักษาโรค ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เป็นยารักษาตัวแรกสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Neglected tropical diseases) ในหลายประเทศ ขณะนี้มีการพัฒนาสารใหม่มากกว่า 20 ชนิด และมีการศึกษาทดลองทางคลินิกมากกว่า 20 การศึกษา
ในฐานะผู้อำนวยการ นายแพทย์พีคูล ได้ประสานงานวิจัยและร่วมมือพัฒนา ริเริ่มและบริหารจัดโครงการวิจัย ซึ่งประกอบ ด้วยทีมงานและนักวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินโครงการในส่วนต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาและลาตินอเมริกา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งมอบการรักษาใหม่ที่มีประสิทธิภาพจำนวน 16 ชนิดจาก 18 ชนิด สำหรับโรคที่ถูกละเลยให้แก่ผู้ป่วย ภายในปี พ.ศ.2566 จนถึงปัจจุบัน DNDi ได้ส่งมอบยาใหม่ถึง 8 ชนิด ซึ่งช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก
ผลงานของนายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล ได้มีส่วนสำคัญในการลดอัตราการเสียชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรนับล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้น้อย ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ถูกละเลย