พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จฯ แทนพระองค์
พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๖
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันพุธที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗
Live Internet
the Presentation Ceremony of the Prince Mahidol Award for the year 2023
https://tv.mcot.net,
www.princemahidolaward.org
To view this video please enable JavaScript, and consider upgrading to a web browser that
supports HTML5 video
- ถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566 ทางอินเทอร์เน็ต
ประวัติความเป็นมาของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
และผลงานของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
- ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ อ่านประกาศสดุดีเกียรติคุณและกราบบังคมทูล เบิกผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566 เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลตามลำดับ
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566 และพระราชทานพระราชดำรัส
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานฯ ให้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมด้วยคู่สมรสเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
ปี 2566 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งสิ้น 92 ราย จาก 31 ประเทศ ผลปรากฏว่ามีผู้ได้รับพระราชทานรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา / อิตาลี และ สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566
สาขาการแพทย์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นาโปเลโอเน เฟอร์รารา
(Napoleone Ferrara, M.D.)
ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ภาควิชาจักษุวิทยาและพยาธิวิทยา
รองผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศูนย์มะเร็งมัวรส์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแซนดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา / อิตาลี
ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย
คาตาเนีย ประเทศอิตาลี หลังจากนั้นฝึกอบรมหลักสูตรหลังปริญญาเอกด้านวิทยาต่อมไร้ท่อระบบสืบพันธุ์
และด้านการวิจัยโรคมะเร็ง ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ภาควิชาจักษุวิทยาและพยาธิวิทยา และรองผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
ศูนย์มะเร็งมัวรส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแซนดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ.2532 ขณะทำงานที่บริษัท เจเนนเทค ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา
ได้ค้นพบและสกัดโปรตีนที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดหรือโปรตีนวีอีจีเอฟ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์ราราได้ทำการศึกษาทั้งในด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโปรตีนวีอีจีเอฟ รวมถึงตัวรับโปรตีนวีอีจีเอฟชนิดต่าง ๆ และกลไกในการกระตุ้น
การสร้างหลอดเลือดใหม่ทั้งในภาวะปกติ และภาวะที่เกิดพยาธิสภาพ ที่สำคัญคือโรคมะเร็งบางชนิด
และโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ หรือโรคเอเอ็มดี
ผลการศึกษาดังกล่าวของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา นำไปสู่การพัฒนายา
ชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟ ได้แก่ ยาบีวาซิซูแมบ (เอวาสติน) ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่น ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ยังได้เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุ
ที่เป็นโรคเอเอ็มดีด้วยผลิตภัณฑ์ยาที่มีองค์ประกอบหลักเป็นส่วนของแอนติบอดี และมีฤทธิ์ต้านการทำงานของโปรตีนวีอีจีเอฟ คือ ยารานิบิซูแมบ (ลูเซนติส) อีกด้วย
ผลสำเร็จจากการศึกษาค้นคว้าของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา เกี่ยวกับโปรตีนวีอีจีเอฟ และการรักษาด้วยยาแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคตา
เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566
สาขาการสาธารณสุข
ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค
(Barry H. Rumack, M.D.)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขากุมารเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด
สหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเภสัชวิทยาคลินิค และพิษวิทยา มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขากุมารเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และผู้อำนวยการเกียรติคุณ ศูนย์พิษและยา ร็อคกี้เมาเทน โคโลราโด สหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ. 2516 ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ได้ฝึกงานเพิ่มเติมกับนายแพทย์เฮนรี แมทธิว (Henry Matthew M.D.) ที่โรงพยาบาลรอยัลแห่งเอดินบะระในสกอตแลนด์ ช่วงเวลานี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์
แบร์รี่ เอช. รูแมค เริ่มมีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของยาพาราเซตามอล ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย ภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลันร้อยละ 40-70 ของผู้ป่วยทั่วโลก
ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ได้รวบรวมกรณีผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเกินขนาด 34 กรณี รวมกับกรณีที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้านั้น 30 กรณี นำมาใช้เป็นข้อมูลสร้างเป็นภาพกราฟประดิษฐ์
เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเฉียบพลันที่เรียกว่า Rumack–Matthew Nomogram ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2518
รูแมค – แมทธิว โนโมแกรม เป็นเครื่องมือที่มีชื่อเสียงมากในวงการแพทย์ทั่วโลก เป็นภาพกราฟแสดงระดับความเข้มข้นของยาพาราเซตามอลในเลือดและระยะเวลาหลังการกินยาเกินขนาด และบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อภาวะ
เป็นพิษต่อตับในผู้ป่วยแต่ละราย เครื่องมือนี้ช่วยให้แพทย์ทั่วโลกวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอลเกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม และเป็นส่วนสำคัญของแนวทางการรักษาซึ่งกลายเป็นมาตรฐานสากล
ในการรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอล การประยุกต์ใช้เครืองมือนี้ร่วมกับประสิทธิภาพของยาเอ็น อะซิติลซิสเตอีน (N-acetylcysteine) ที่ใช้เป็นยาต้านพิษช่วยลดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรงจากพาราเซตามอลลงอย่างมาก
จากอุบัติการณ์ 54% เหลือเกือบ 0% และแนวทางการรักษานี้ยังคงใช้ในห้องฉุกเฉินทั่วโลกในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ยังเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการใช้ Poisindex
ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านพิษวิทยาคลินิกและเป็นฐานข้อมูลมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยด้วยข้อมูล
ที่แม่นยำและทันสมัยในโรงพยาบาลและศูนย์พิษวิทยาทั่วโลก อีกด้วย
นับได้ว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค เป็นผู้ที่มีคุณูปการในสาขาพิษวิทยาทางการแพทย์
ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การทำงานวิจัยทางด้านภาวะพิษของพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย ความมุ่งมั่นในฐานะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่
เอช. รูแมค ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนนับล้านคนทั่วโลก เป็นแบบอย่าง
และแรงบันดาลใจให้แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขในการปฏิบัติงานศึกษาและค้นคว้าเพื่อประโยชน์
ของมนุษยชาติอย่างไม่หยุดยั้ง