พระราชดำรัสสำคัญ
- สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนของพระองค์ ทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ ทรงอบรมให้รู้จักกระเหม็ดกระแหม่ ทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า
“เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฎรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป”
- สมเด็จพระบรมราชชนกทรงห่วงใยนักเรียนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะแต่การเรียนเท่านั้น แม้ในด้านส่วนตัว การอยู่การกิน ได้เสด็จตรวจหอพักโดยไม่ทรงบอกกล่าว ล่วงหน้า สิ่งที่ทรงพร่ำสอนแก่นักศึกษาแพทย์ทั้งหลายคือ
“อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรประกอบอาชีพอื่น”
- ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2471 สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมใหญ่ประจำปีของแพทยสมาคม ความตอนหนึ่งดำรัสว่า
“การที่พระองค์ทรงศึกษาวิชาแพทย์นั้นทำให้ทรงได้รับความสนุกและพอพระทัย แต่พระราชประสงค์ที่แท้จริงคือ เพื่อจะทำพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ ในประเทศไทยนั้นยังมีหนทางอีกมาก ที่จะช่วยกันบำรุงการแพทย์ให้เจริญขึ้นได้ และควรจะช่วยกันทำการค้นคว้าเรื่องราวสมมุติฐานของโรคในเมืองนี้”
พระราชนิพนธ์สำคัญ
- “โรคทูเบอร์คูโลสิส” พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พ.ศ. 2463
- “วิธีปฏิบัติการสุขาภิบาล” ทรงแสดงในการอบรมแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. 2467
- พระราชหัตถเลขา ถึง ดร. เอ. ยี. เอลลิส อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล และอดีตนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช ณ วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2471 (ภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทย)
- “Diphyllobothrium Latum in Massachusetts” A Report of Two Indigenous Cases:, JAMA: 90: 1607-1608, May 19, 1928 (ภาษาอังกฤษ)
- เอกสารประวัติศาสตร์ “การเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ พ.ศ. 2465”
- พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465
- พระราชหัตถเลขาโต้ตอบกับ มร. ริชาร์ด เอ็ม เพียร์ซ มูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ ระหว่าง วันที่ 3 ตุลาคม-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 (ภาษาอังกฤษ)