Prince Mahidol bursary Fund at Trinity College
ความเป็นมา
ก่อตั้งโดยการริเริ่มของเซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ (Sir Gregory Paul Winter) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๙ สาขาการแพทย์ ได้นำเงินรางวัลบางส่วน ก่อตั้งเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยที่จะมาศึกษาที่วิทยาลัยทรินิตี้ โดยขอพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งเป็นชื่อทุนเรียกว่า Prince Mahidol bursary Fund at Trinity นั้น การดำเนินการของ Prince Mahidol Bursary Fund at Trinity College มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในปี 2021 (พ.ศ.๒๕๖๔) ได้มีการเริ่มข้อเสนอในการระดมทุนเพิ่มเติมสำหรับทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์ และมีการหารือเรื่องการระดมทุนทั้งในประเทศ และในเคมบริดจ์ระหว่าง Sir Gregory Paul Winter และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี (1952) Honorary Fellow ทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์ และมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทางทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์มีความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงระดับโลกในด้านการวิจัยทางชีวการแพทย์สืบเนื่องจากการที่ทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์ มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาการแพทย์ถึง ๑๕ คน จาก ๓๔ คน
จากการหารือทางทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์มีความยินดีที่จะศึกษาโอกาสในการเติบโตของทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์ เพื่อจัดหาเงินทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและถาวร ซึ่งนำมาสนับสนุนผู้นำด้านชีวการแพทย์ในอนาคตจากประเทศไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญาญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เชื่อมั่นว่าเงินบริจาค ๓ ล้านปอนด์ สำหรับทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์ เป็นสิ่งจำเป็นในการจัดหารายได้ที่เพียงพอสำหรับมอบทุนการศึกษาเต็มจำนวนให้แก่นักศึกษาปริญญาเอกจากประเทศไทยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์เป็นระยะเวลา ๓ ปีการศึกษา โดยเงินทุนนี้จะสนับสนุนด้านการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสามารถทำให้การให้ทุนการศึกษานี้คงอยู่ต่อไป
โดยเงินทุนจำนวน ๓ ล้านปอนด์ได้มาจาก
๑.) เงินบริจาคของ เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ จำนวน ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในทรินิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์
๒.) เงินบริจาคที่ได้รับจาคผู้บริจาคในประเทศไทย จำนวน ๒.๕ ล้านปอนด์ (โดยนายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนผู้บริจาคทั้ง ๓ ราย และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินบริจาคทั้งสิ้น ๒.๕ ล้านปอนด์
ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๕)
๓.) เงินทุนจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เป็นจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งจะได้รับจากการจัดสรรเงินทุนสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
โดยผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และดำเนินการสมัครเข้าเรียนตามขั้นตอนของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ผู้สมัครจะต้องได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของทรินิตี้ คอลเลจ หลังจากนั้นตัวแทนของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะร่วมพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดสำหรับทุนการศึกษา
ข้อมูลเพิ่มเติม