ผลการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

วันนี้ (16  พฤศจิกายน 2559)  เวลา 13.30 น.  ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นายเสข  วรรณเมธี  อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ครั้งที่ 25 ประจำปี 2559   ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก  ตึกสยามินทร์  ชั้น 2  โรงพยาบาลศิริราช

                 

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ประจำปี 2559 
สาขาการแพทย์           เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ (Sir Gregory Paul Winter)   
                                จากสหราชอาณาจักร  
     

สาขาการสาธารณสุข  ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี (Professor Vladimir Hachinski) 
                               จากประเทศแคนาดา  

 

     ทั้งนี้  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 ทั้งสิ้น  59 ราย จาก 24 ประเทศ  คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2559, 2558, 2557  และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ    ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน  ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อวันที่  31 ตุลาคม  2559

 

 


   

      โดยระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 72 ราย ในจำนวนนี้มีผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล รวม 4 ราย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ประจำปี 2558  ผู้ได้รับรางวัล 2 ใน 3 คน  เคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมาก่อน  คือ ศาสตราจารย์ซาโตชิ  โอมูระ ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิดหนึ่งชื่อ Streptomyces avermitilis จนสามารถสังเคราะห์ยา Ivermectin ใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง และ ศาสตราจารย์ตู โยวโยว เป็นสมาชิกของกลุ่ม China Cooperative Research Group on Qinghaosu and its Derivatives as Antimalarials ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากผลงานสารสกัดชิงเฮาซู จนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย

 

 

 

 

   ในอดีตอีก 2 ราย คือศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล  ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ในปี 2548 ด้วยการค้นพบเดียวกัน   อีกท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์  ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 จากการค้นพบเดียวกัน และ 1 ราย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมาคือ แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน รับพระราชทานรางวัลสมแด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2549  และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  4 ราย  คือศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา  นิมมานนิตย์  รับพระราชทาน ปี 2539  และนายแพทย์ วิวัฒน์  โรจนพิทยากร  และนายมีชัย  วีระไวทยะ  รับพระราชทาน ปี 2552
     
     รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี  แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล,  ประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  100,000 เหรียญสหรัฐ

 

 

 

     ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์  พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559   ในวันอังคารที่ 31 มกราคม 2560 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง  โดยในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2560 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ   มาเยือนและแสดงปาฐกถา เกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย

 


 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559
สาขาการแพทย์

เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์
คณบดีวิทยาลัยทรินิตี  มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
สหราชอาณาจักร

  

     เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ เป็นนักชีวเคมี เป็นผู้นำของโลกที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างและดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดี ให้มีประสิทธิภาพสูงและมีความเป็นสิ่งแปลกปลอมลดลง (antibody humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายากลุ่มใหม่จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค

    แอนติบอดีเป็นชีวโมเลกุลที่สามารถจับจำเพาะกับเป้าหมายต่างๆ จึงมีศักยภาพสูงในการใช้รักษาโรค เนื่องจากมีความจำเพาะและมีผลข้างเคียงน้อย ในอดีตเแอนติบอดีที่ใช้นั้นได้มาจากเซลล์ของหนูเป็นหลัก ซึ่งเมื่อฉีดเข้าสู่มนุษย์ ร่างกายจะถือเป็นสิ่งแปลกปลอม และเกิดปฏิกิริยาต่อต้านแอนติบอดีจากหนูทำให้ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้  เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ ได้พัฒนาเทคโนโลยี ในการดัดแปลงโมเลกุลแอนติบอดีของหนู ให้เป็นโมเลกุลเสมือนกับแอนติบอดีของมนุษย์ โดยการเปลี่ยนถ่ายทดแทนลำดับพันธุกรรมในตำแหน่งที่สำคัญอย่างเป็นระบบ ทำให้โมเลกุลแอนติบอดีใหม่ที่ได้ยังคงสามารถจับกับเป้าหมายได้อย่างจำเพาะ แต่มีโครงสร้างโมเลกุลเสมือนแอนติบอดีของมนุษย์ ที่ไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้สามารถใช้ในการรักษาโรคในคนได้  

    เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมาก เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาแอนติบอดีจำนวนมากซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคที่เดิมรักษาได้ยากและมีผลข้างเคียงสูง เช่น โรคกลุ่มภูมิคุ้มกัน โรครูมาตอยด์ และโรคมะเร็ง ตลอดจนเกิดการพัฒนายาใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง  ในปัจจุบันมียากลุ่มแอนติบอดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 50 ชนิด และมียาใหม่ขึ้นทะเบียนเพิ่มอีกปีละ 3-5 ชนิด เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยนับร้อยล้านคนทั่วโลก

     เซอร์ เกรกอรี พอล วินเตอร์ สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร จากนั้นปฏิบัติงานวิจัยที่ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาของสภาวิจัยทางการแพทย์ ที่เมืองเคมบริดจ์ เป็นผู้ก่อตั้งและบริหารศูนย์วิจัยวิศวกรรมโปรตีนและก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์หลายแห่ง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

 


รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559
สาขาการสาธารณสุข

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี
ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทอร์น ออนตาริโอ
ประเทศแคนาดา

      ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี เป็นผู้นำในด้านโรคหลอดเลือดสมองและภาวะสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือด ผลงานของเขานอกจากจะช่วยชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมากแล้วยังสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและความจำเสื่อมอีกด้วย

    ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ร่วมกับ นายแพทย์จอห์น ดับเบิลยู นอร์ริส เป็นผู้จัดตั้งหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นมาตรฐานการรักษาจวบจนปัจจุบัน เป็นผู้ริเริ่มนำคำว่า “เบรนแอทแทค” (brain attack) มาใช้ เพื่อสื่อถึงความฉุกเฉินของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เป็นการเตือนให้ผู้ป่วยรีบไปโรงพยาบาลทันที แทนที่จะสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้ค้นพบบทบาทที่สำคัญของสมองส่วนอินซูล่าร์ ซึ่งมีผลต่อการเต้นผิดปรกติของหัวใจ  นำไปสู่การเสียชีวิตที่ทันที  ทำให้ลดอัตราตายของผู้ป่วยโรคหลอดเหลือดสมองได้อย่างมาก อีกทั้งเป็นผู้บัญญัติคำว่าภาวะสมองเสื่อมจากการขาดเลือด พร้อมทั้งสร้างเกณฑ์การแยกภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ออกจากภาวะสมองเสื่อมจากการขาดเลือด นอกจากนี้ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ยังได้ผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ผ่านการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

    ผลงานของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ทำให้วงการแพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และลดอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ในผู้ป่วยนับล้านคนทั่วโลก   ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี   สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจามหาวิทยาลัยโตรอนโต หลังจบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านแล้ว ศึกษาต่อด้านโรคหลอดเลือดสมองที่ประเทศอังกฤษและประเทศเดนมาร์ค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทอร์น ออนตาริโอ  ประเทศ-แคนาดา