พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์

ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑

ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

และในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๓๐ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น ๔๙ ราย จาก ๒๕ ประเทศ สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ (Professor Brian J. Druker) และศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง (Professor Dr. Mary-Claire King)  สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens) และศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน (Professor Jan R.  Holmgren)

 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สาขาการแพทย

            ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์  (Professor Brian J. Druker)

ศาสตราจารย์อายุรศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งไนท์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอน สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ มีผลงานสำคัญในการศึกษาค้นคว้าและวิจัย จนเป็นผู้นำในการพัฒนาหนึ่งในยาต้นแบบของการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าคือ อิมาทินิบ สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล ยาอิมาทินิบมีฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนมะเร็ง BCR-ABL ที่พบเฉพาะในเซลล์ของผู้ป่วยโรคซีเอ็มแอล ซึ่งเซลล์ปกติไม่มีโปรตีนดังกล่าว  ทำให้มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย รวมถึงได้ผ่านการทดลองตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก   พบว่าผู้ป่วยที่ได้ยาสม่ำเสมอสามารถลดความรุนแรง อัตราการตาย และความพิการจากโรคซีเอ็มแอลได้ หากไม่ได้รับยาอิมาทินิบผู้ป่วยจะมีอาการหนักจนถึงเสียชีวิตภายใน ๓ ปี  ปัจจุบันมีการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าขึ้นอีกหลายชนิดสำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ

ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง (Professor Dr. Mary-Claire King)

ศาสตราจารย์เวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง เป็นผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมปีละกว่าสองล้านคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึงสองแสนคนในแต่ละปี

ในปีพ.ศ.๒๕๓๔  ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์คิง ค้นพบตำแหน่งของยีน ที่เมื่อเกิดการกลายพันธุ์จะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ และตั้งชื่อยีนนั้นว่า BRCA1 นับเป็นครั้งแรกที่มีการพิสูจน์ว่ามะเร็งที่พบได้บ่อยสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม สามารถค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านมจากสาเหตุทางพันธุกรรม ช่วยป้องกันการเกิดโรคด้วยการเฝ้าระวังหรือการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาได้มีการค้นพบยีนอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม เช่น BRCA2  โดยศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์คิง ยังมีส่วนร่วมในการศึกษายีนเหล่านั้นเป็นส่วนใหญ่ด้วย และ BRCA1 ยังเป็นยีนที่เกิดการกลายพันธุ์ได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม  นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์คิง ยังได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน  พัฒนาการตรวจยีนมะเร็งด้วยเทคนิคใหม่เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก   ส่งผลให้ปัจจุบันการตรวจหายีนมะเร็งมีราคาถูกจนคนเข้าถึงได้จำนวนมาก ผู้ป่วยและครอบครัวที่ตรวจคัดกรองพบการกลายพันธุ์ของยีนจึงได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม  และได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ป้องกันการเสียชีวิตจากการลุกลามของโรคได้อย่างกว้างขวาง

ผลงานการค้นพบที่สำคัญของศาสตราจารย์ นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ที่พบยาต้นแบบในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมุ่งเป้า ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้าอย่างก้าวกระโดด และศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง ที่พบยีนสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และการพัฒนาชุดตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจยีน  ทำให้สามารถคัดกรองคนทั่วไปที่มีความเสี่ยงและวางแผนการเฝ้าระวังโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีบทบาทสำคัญยิ่งในการศึกษาความรู้พื้นฐาน การพัฒนาแนวทางวินิจฉัย และการรักษาโรคมะเร็งที่พบบ่อย ส่งผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งเต้านมได้จำนวนหลายล้านคนทั่วโลก

 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สาขาการสาธารณสุข

 

            ศาสตราจารย์ นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens)

ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยโรคท้องร่วงนานาชาติ ประเทศบังคลาเทศ ศาสตราจารย์วุฒิคุณระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา

            ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน (Professor Jan R.  Holmgren)

ศาสตราจารย์จุลชีววิทยาการแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน  ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน

อหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร การระบาดทั่วโลกครั้งแรกเกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙  นับถึงปัจจุบันมีการระบาดทั่วโลกแล้ว ๗ ครั้ง  มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้หลายล้านคน  โดยได้มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคชนิดฉีดมาเป็นเวลานาน แต่พบว่ามีประสิทธิภาพต่ำ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยอน อาร์. โฮล์มเกรน  ได้เสนอผลการวิจัยว่าภูมิต้านทานที่สำคัญในการป้องกันอหิวาตกโรคคือชนิดไอจีเอ ซึ่งสร้างขึ้นที่เยื่อบุทางเดินอาหาร และวัคซีนชนิดกินมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนชนิดฉีด  ส่วนศาสตราจารย์ นายแพทย์ จอห์น ดี. คลีเมนส์  มีบทบาทสำคัญในการศึกษาเพื่อแสดงประสิทธิผลของวัคซีนชนิดกินในการทดสอบทางคลินิก ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคควรเป็นชนิดกิน  และยุติการใช้วัคซีนชนิดฉีด

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ชนิดแรกที่ผลิตขึ้นเรียกว่า ดูโครอล (Dukoral)  แต่มีราคาแพง มีความลำบากในการกิน และมีประสิทธิภาพการป้องกันได้เพียงประมาณร้อยละ ๕๐ ในเวลา ๒ ปี  ในทศวรรษที่ ๒๐๐๐ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์   และศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน  ได้ผลิตวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ชนิดใหม่เรียกว่าชานชอล (Shanchol)  ซึ่งมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพการป้องกันสูงได้นานกว่า ๕ ปี นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันอาศัยหมู่ โดยพบว่า การให้วัคซีนกับประชากรประมาณร้อยละ ๖๐ (ไม่จำเป็นต้องให้ครบทุกคน)  จะสามารถช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้  เพราะเมื่อคนที่ได้รับวัคซีนไม่เป็นโรคจะช่วยป้องกันคนที่ไม่ได้วัคซีนได้ด้วย เพราะไม่มีการแพร่กระจายของโรค ด้วยแนวคิดนี้ทำให้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีนชานชอล  ในประเทศที่มีปัญหาการควบคุมอหิวาตกโรคมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๐  และในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ องค์การอนามัยโลก และกลุ่มพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) ได้จัดทำคลังวัคซีนดังกล่าวสำหรับใช้ในการป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรค  โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงหรือเกิดเหตุฉุกเฉินดังเช่นในประเทศเฮติ หลังจากได้รับผลกระทบจากเฮอริเคนแมทธิว ในปี ค.ศ. ๒๐๑๖ และหลังจากการอพยพของกลุ่มประชากรโรฮิงญาจำนวนมากเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ในปี ค.ศ.๒๐๑๗ ซึ่งเชื่อว่าการให้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกินแก่ประชากรหลายแสนคนในแต่ละเหตุการณ์  ช่วยป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ได้

ผลงานการศึกษาตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างภูมิต้านทานป้องกันอหิวาตกโรค ไปสู่การผลิตวัคซีนชนิดกินที่ได้รับการทดสอบทางคลินิก จนเป็นที่ยอมรับโดยองค์การอนามัยโลกของศาสตราจารย์  นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากวัคซีนชนิดฉีด เป็นการแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดกินแทน และสนับสนุนคลังวัคซีนสำหรับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาหรือมีความเสี่ยงต่อการระบาดของอหิวาตกโรค ทำให้ช่วยป้องกันโรคได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคได้ในประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

             รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการพระราชสมภพ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ด้านการแพทย์ ๑ รางวัล และการสาธารณสุข  ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล,  ประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

ตลอดระยะเวลา ๒๗ ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น ๗๙ ราย  ในจำนวนนี้มีผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล รวม ๕ ราย  และ ๑ ราย  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมา  และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ๔ ราย

เวลา ๑๙.๓๐ น. ในวันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง

นอกจากนี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต่อจากพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยจะจัดเป็นการประชุมเชิงนโยบาย เพื่อนำมาเป็นข้อแนะนำแก่ประเทศต่างๆ ในการดำเนินการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาติของโลก โดยในปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒ ในวันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สาขาการแพทย์ แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ จากสหรัฐอเมริกา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สาขาการแพทย์ แก่ ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง จากสหรัฐอเมริกา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สาขาการสาธารณสุข แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ จากสหรัฐอเมริกา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สาขาการสาธารณสุข แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน จากประเทศสวีเดน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒