ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566

วันนี้ (21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566)  เวลา 13.30 น.  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุพัฒน์  วาณิชย์การ  เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช  ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สมภพ  ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี  2566 ได้แก่

 

  1. นายคณิน หอศิริพร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. นางสาวณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. นางสาวพีณประภา ตั้งประดับเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. นายศุภกฤต โฆษิตบวรชัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. นายสุวินัย จิระบุญศรี    คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566  ทั้งสิ้น 13 คน จากสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์ 6 แห่ง โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 คน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณาคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพแพทย์ให้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปีโดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย

 

********************

 

นายคณิน หอศิริพร 

นายคณิน หอศิริพร นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เสนอโครงการ “การใช้แอปพลิเคชั่นโดยอาศัยหลักคำแนะนำสุขภาพจำเพาะบุคคลและทฤษฎีนัดจ์

(Nudge Theory) เพื่อช่วยเสริมสร้างการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สองในคนอายุน้อยในประเทศไทย”

 

เนื่องด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนทั่วโลกทำให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ต่ำลง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สองในคนอายุน้อยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ต้องพึ่งพายาหลายชนิดและสุดท้ายมักจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลที่ต้องการได้  ท้ายที่สุดจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ดี แต่มีผู้ป่วยเพียง 2ð เปอร์เซ็นต์ที่สามารถปรับพฤติกรรมสุขภาพได้สำเร็จ ถึงแม้การปรับพฤติกรรมจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้สำเร็จ นายคณิน จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ป่วยโรคดังกล่าวมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น โดยอาศัยหลักคำแนะนำสุขภาพเฉพาะเจาะจงบุคคล (Personalised lifestyle modification) ผสานรวมกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Nudge Theory)  และคาดหวังว่าจะนำไปสู่คุณภาพชีวิต ตลอดจนสุขภาวะที่ดีขึ้นของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สองในคนอายุน้อยในประเทศไทย

โดย นายคณิน หอศิริพร มีเกียรติประวัติต่างๆ เช่น

ปี 2565
  • อุปนายกฝ่ายพัฒนาบุคคล (Personal Development)  สโมสรนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปี 2564
  • รองอุปนายกฝ่ายสื่อสารองค์กร สโมสรนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปี 2562
  •  ประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลและเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 1ð (Mahidol University Leadership Program X)
ปี 2560
  • ได้รับรางวัลผลการเรียนดีเด่น 3 สมัย ในระว่างการศึกษาชั้นมัธยมปลาย และรางวัลทุนเรียนดี คะแนนรวมสูงสุดของระดับชั้นมัธยมปลายปีที่ 6 ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ปี 2558
  •  เข้าร่วมการอบรม โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สาขาคณิตศาสตร์ รุ่นที่ 16

 

********************

 

นางสาวณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ 

นางสาวณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการ การบริหารสุขภาพโลกผ่านการศึกษานโยบาย Triple Billion Targets

ขององค์การอนามัยโลก”

นางสาวณัฐณิชา มีความสนใจในระบบสุขภาพโลกหรือ Global Health เนื่องจากเห็นความสำคัญในการใช้ความรู้ส่วนนี้แก้ปัญหาสุขภาพที่ประเทศไทยแก้ด้วยตนเองไม่ได้ หากแต่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การระบาดของโควิด-19 หรือสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาคที่ส่งผลต่อสุขภาพ จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าว โดยวางแผนศึกษาดูงานที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตส์เซอร์แลนด์ เพื่อเรียนรู้ระบบการบริหารงานของ Global Health ในเชิงลึก ซึ่งระบบบริหารงานนี้เป็นคลื่นใต้น้ำที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ โดยภายหลังจากการศึกษาดูงานแล้ว นางสาวณัฐณิชา มีวิสัยทัศน์ว่าจะต้องเผยแพร่ความรู้เชิงลึกที่ตนได้เรียนมาเกี่ยวกับกลไกต่างๆ รวมถึงจะวิเคราะห์ศักยภาพประเทศไทยจากในมุมของตนเองไปทำงานที่องค์การอนามัยโลกเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแนวหน้าด้าน Global health ในเวทีโลก ซึ่งจะนำมาซึ่งอำนาจเชิงการต่อรองที่มากขึ้น ทำให้มีนโยบายจากองค์การอนามัยโลกที่เอื้อต่อสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศไทยและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ มากขึ้น

 

โดย นางสาวณัฐณิชา มานะบริบูรณ์  มีเกียรติประวัติต่างๆ เช่น

ปี 2565
  • ผู้แทนเยาวชนในฐานะ National SDGs Youth Advisory Board
    ของสหประชาชาติของประเทศไทย (United Nations Thailand)
  • รองประธานฝ่ายกิจการภายนอก สมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ แห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) โดยเป็นผู้แทนสมาคมในการเข้าร่วมงานทาง ด้านสาธารณสุขไทยต่างๆ ในฐานะผู้แทนเยาวชน เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพ  รวมถึงการจัดงาน Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  •  เป็นหนึ่งใน 7 คณะกรรมการเยาวชน Youth Pre-World Health Assembly ซึ่งเป็นงานเตรียมความพร้อมของเยาวชนจากทั่วโลก ในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพโลก ครั้งที่ 75 (75th World Health Assembly) จัดโดยสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (IFMSA)
ปี 2564
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นนักศึกษาแพทย์ไทยคนแรก ในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพโลก ครั้งที่ 74 (74 th World Health Assembly) ในฐานะตัวแทนจาก IFMSA
ปี 2561-

2565

  • rapporteur ในงาน Prince Mahidol Award Conference (PMAC) โดยในปี 2564 ได้เป็น panelist ใน side event “Meaningful Youth Engagement in Global Health” ร่วมกับ WHO Thailand, UNICEF-Thailand และสช.
ปี 2560
  •  ผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วม International Geography Olympiad 2017 โดยได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากการแข่งขัน

********************

นางสาวพีณประภา ตั้งประดับเกียรติ

นางสาวพีณประภา ตั้งประดับเกียรติ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสนอโครงการ “การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรหมู่มาก โดยใช้วิธีการจัดการรูปแบบใหม่”

 

เนื่องด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่ยังก่ออัตราการเสียชีวิตที่สูง ด้วยข้อจำกัดในการตรวจคัดกรองในประชากรหมู่มาก ทั้งด้านทรัพยากร การเข้าถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนเครื่องมือในการตรวจคัดกรอง   นางสาวพีณประภา มีความสนใจในการพัฒนาแบบแผนคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างเป็นลำดับขั้นตอน (sequential screening) ผ่านการพัฒนาเครื่องมือใหม่ 2 ชนิด คือ ระบบคะแนนประเมินความเสี่ยง (risk scoring algorithm) จากฐานข้อมูลของประชากรไทย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง และการกลืนกล้องแคปซูลตรวจพยาธิสภาพในลำไส้ใหญ่ (colon capsule endoscopy) โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม (deep learning) ในการอ่านผล เพื่อแก้ปัญหาความร่วมมือ และความขาดแคลนของทรัพยากร  โดยคาดหวังว่าแบบแผนที่พัฒนาขึ้นจะช่วยลดความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิต ตลอดจนทำให้การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยและประชาคมโลกมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นไป

 

โดย นางสาวพีณประภา ตั้งประดับเกียรติ  มีเกียรติประวัติต่างๆ เช่น

ปี 2566
  • ได้รับคัดเลือกไปศึกษาวิจัยและเรียนรู้ทักษะทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับงาน Translational research on alcoholic hepatitis ณ Indiana University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • วิทยากรรับเชิญในงานเสวนาเปิดรั้วหมอจุฬาฯ ครั้งที่ 33
ปี 2565
  •  ประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  •  ผู้นำเสนอหลักผลงานวิจัยในรูปแบบ Poster presentation เรื่อง Gardenia jasminoides fruit extract attenuated acetaminophen-induced hepatotoxicity in a mouse model ในงานประชุมประจำปีของ The American Association for the Study of Liver Diseases (AASLD) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • เข้าศึกษาในหลักสูตรควบข้ามระดับแพทยศาสตร์บัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต
    คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2564

 

  • ผู้แทนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการอภิปรายเรื่อง COVID-19 vaccine hesitancy influence on the pandemic response จัดโดย University of South Florida
ปี 2563
  • อาสาสมัครออกค่ายอนามัยชุมชน ในค่ายอนามัยชุมชนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    เป็นเวลา 3 ปี (2563, 2564, 2566)
  • หัวหน้าฝ่าย content ชมรมวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2562
  • ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตแพทย์ในโครงการเพชรชมพู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  •  กรรมการฝ่ายประสานงาน จัดพิธีน้อมรำลึกฯ เนื่องในวันอานันทมหิดล
  • ร่วมนำเสนอโครงการเรื่อง Teledoctor: Telemedicine application for elderly
    ในรูปแบบ oral presentation ในงาน BMC conference 2ð19
ปี 2561
  • รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขันโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษ 13th EUTH Debating

 

********************

นายศุภกฤต โฆษิตบวรชัย

นายศุภกฤต โฆษิตบวรชัย นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เสนอโครงการ

งานวิจัย Cohort เรื่อง การทดสอบยาและการดื้อยา ในโมเดลที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์

ในโรคมะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-negative”

 

เนื่องด้วยในปัจจุบัน มะเร็งนับเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขระดับต้นๆ โดยมะเร็งเต้านมนับเป็นมะเร็งที่มีพบได้มากที่สุดในผู้หญิงทั้งในระดับประเทศไทยและระดับสากล และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ในบรรดามะเร็งเต้านมทั้งหมด มะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-Negative นับเป็นมะเร็งเต้านมที่มีพยากรณ์โรคที่ไม่ดีที่สุด อัตราการแพร่กระจายสูงที่สุด พบได้มากในผู้ป่วยอายุน้อย รวมทั้งยังมีข้อจำกัดด้านการรักษา ทำให้การแพทย์แบบแม่นยำเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคมะเร็งกลุ่ม Triple-negative มากขึ้น ทั้งนี้ นายศุภกฤต มีความสนใจในการทดลองหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-negative โดยนำโมเดลที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ มาเพื่อทดสอบกับยาชนิดต่างๆ  ซึ่งสัมพันธ์กับความผิดปกติทางพันธุกรรม  และคาดหวังว่าจะค้นพบการรักษาโรคมะเร็งเต้านมกลุ่ม Triple-negative เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยต่อไป

 

โดย นายศุภกฤต โฆษิตบวรชัย  มีเกียรติประวัติต่างๆ เช่น

ปี 2565
  • นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปี 2564

 

  • ประธานฝ่ายวิจัย สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปี 2563
  •  ประธานชมรมภาษาอังกฤษโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปี 2561
  •   ได้รับรางวัลชนะเลิศรายการแข่งขัน innovation for campus sustainability 2ð18
    ระดับ มหาวิทยาลัยมหิดล
  •  ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดล เข้านำเสนอใน The 1st Conference of Asian Sustainable Campus Network (ASCN) ที่ Tongji University, China และได้รับรางวัล Excellent Student Award Activity

********************

นายสุวินัย จิระบุญศรี

นายสุวินัย จิระบุญศรี นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสนอโครงการ

การใช้เทคโนโลยีการสร้างอวัยวะจำลองเพื่อศึกษากลไกการก่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

จากฝุ่นมลภาวะ PM 2.5

เนื่องด้วยในปัจจุบัน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบกับชาวไทยทุกคน โดยมลภาวะชนิดนี้ได้รับการพิสูจน์ในเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถทำให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้ เช่น มะเร็งปอด และมีผลการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีข้อมูลความสัมพันธ์ที่ชัดเจนในกลุ่มคนไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาในเชิงประจักษ์ถึงกลไกการก่อโรคของฝุ่น PM 2.5 ในมะเร็งลำไส้ใหญ่  นายสุวินัย เป็นผู้ที่มีความสนใจศึกษากลไกการเกิดโรคมะเร็งโดยการใช้เทคโนโลยีอวัยวะจำลอง (Organoid) ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงเซลล์ให้มีลักษณะคล้ายกับในร่างกายมนุษย์ จึงมีความแม่นยำสูงในการจำลองและศึกษากระบวนการเกิดโรค องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจะเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดนโยบาย และการวิจัยต่อยอดเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อันจะมีผลในการพัฒนาสาธารณสุขและสุขภาพคนไทยต่อไป

 

โดย นายสุวินัย จิระบุญศรี  มีเกียรติประวัติต่างๆ เช่น

ปี 2566
  •   ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานวิจัย ในรูปแบบ poster ในหัวข้อ “Dynamic Alu CpG methylation changes in elevated diastolic blood pressure” ในการประชุม Hypertension 2023 จัดโดย American Heart Association ณ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปี 2565
  • ผู้แทนสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (IFMSA) เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพโลก ครั้งที่ 75 (75th World Health Assembly) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ปี 2564

 

  •  นายกสมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (ประเทศไทย) (IFMSA-Thailand)
  •   ผู้ก่อตั้งชมรมนวัตกรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ ประเทศไทย (TMSIC)
  •   ผู้ก่อตั้งโครงการ Home Isolation ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิด-19: เพื่อนช่วยเช็ค (CovidSelfCheck)
ปี 2563
  • ประธานชมรมสหประชาชาติจำลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ChulaMUN)
  • อุปนายกสมาคมฝ่ายในแห่งสมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ (ประเทศไทย)
    (IFMSA-Thailand)
  • ประธานโครงการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกจำลองประเทศไทย ประจำปี 2020
    (Thailand WHO Simulation 2020)
ปี 2562
  • ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการแข่งขัน สหประชาชาติจำลองโลก โดยมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดประจำปี 2ð19 (Harvard World Model United Nations 2ð19) ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน
  • ผู้แทนนิสิตนักศึกษาแพทย์ในการเสนอความคิดเห็นต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 (12th National Health Assembly)