มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ (Prince Mahidol Award Foundation)
ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก 1 มกราคม พ.ศ. 2535 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอรัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานเฉลิมพระเกียรติขึ้น พร้อมทั้งจัดตั้ง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ถวายเป็นพระราชานุสรณ์ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน โดยพิจารณามอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และทางด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็น กิจกรรมหลักของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นับถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลไปแล้ว 74 ท่าน ในจำนวนนี้ทั้งหมด 4 ท่านได้รับรางวัลโนเบล และเป็นคนไทย 4 ท่าน
กิจกรรมที่สองของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คือ การประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยจัดครั้งแรกเมื่อคราวครบรอบ 5 ปี (2540) และต่อมาครบรอบ 10 ปี (2545) และ 15 ปี (2550) และหลังจากครบรอบ 15 ปี คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ มีมติให้จัดการประชุมวิชาการทุกปีเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทำให้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ โดยผลจากการประชุมวิชาการ ซึ่งเน้นแนวนโยบายสาธารณสุขภาพกว้างของโลก สามารถใช้ขับเคลื่อนหรืออ้างอิงเชิงนโยบายด้านการแพทย์และการสาธารณสุขได้
กิจกรรมที่สาม คือ โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เพื่อคัดเลือกเยาวชนที่เป็นนิสิต/ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 5 ทั่วประเทศปีละ 5 คน เดินทางไป ปฏิบัติงาน ด้านการวิจัย (research), ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ (clinical practice) หรือด้านการพัฒนาชุมชน (community development) เป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 นับถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลไปแล้ว 7 รุ่น จำนวน 33 คน ส่วนหนึ่งได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศ และส่วนใหญ่กลับมาทำงานในประเทศไทย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่ายของคนดี มีความสามารถ ที่จะทำงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืนเพื่อประเทศชาติต่อไป ให้ทุน 1 ปี แต่ติดตามความก้าวหน้า ติดต่อประสานงานช่วยสนับสนุนให้ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ สามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่และอย่างยั่งยืนตลอดชีวิตการทำงาน